SCN ลงทุน 1.2 พันลบ.เข้าถือหุ้นใหญ่โรงไฟฟ้ามินบูในเมียนมา คาดเริ่ม COD 50MW แรกต้นปี 62

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 14, 2018 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฤทธี กิจพิพิธ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) เปิดเผยว่า บริษัทได้เซ็นสัญญาเข้าซื้อกิจการ บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GEP Thailand เข้าซื้อถือหุ้นในสัดส่วน 30% ของทุนจดทะเบียน จาก Planet Energy Holdings Pte. Ltd. โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 1,234.88 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อเข้าร่วมดำเนินโครงการพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 220 เมกะวัตต์ ที่เมืองมินบู ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลค่าโครงการมากกว่า 10,000 ล้านบาท ที่แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 เฟส คาดก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) จำนวน 50 เมกะวัตต์ในเฟสแรกได้ภายในต้นปี 62 โดยประเมินว่าโครงการนี้จะมีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ไม่ต่ำกว่า 10%

หลังจากการเข้าทำรายการแล้ว SCN จะถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 30% ใน GEP Thailand ขณะที่ Planet Energy Holdings จะลดสัดส่วนหุ้นเหลือ 18% จากเดิม 48% ส่วนผู้ถือหุ้นรายอื่น ได้แก่ Noble Planet Pte. Ltd. คงถือหุ้น 5% บมจ.วินเทจ วิศวกรรม (VTE) ถือหุ้น 12% บริษัท อีซีเอฟ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ. อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) ถือหุ้น 20% บริษัท คิวทีซี โกลบอล พาวเวอร์ จำกัด ถือหุ้น 15%

นายฤทธี กล่าวว่า การเข้าลงทุนของ SCN ในครั้งนี้เป็นการมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ (Recurring Income) ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในธุรกิจเป้าหมายที่บริษัทต้องการเข้าไปขยายการลงทุนในรูปแบบของการร่วมพัฒนาและดำเนินการก่อสร้าง (Green Field) ซึ่งการลงทุนในโครงการดังกล่าว จะทำให้ SCN ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดหนึ่งในรายที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วนแผนดำเนินงานในปีนี้ บริษัทจะผลักดันการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ Recurring Income อย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่าธุรกิจก๊าซธรรมชาติอัดสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม (iCNG) จะทำยอดขายเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการผลิต รวมถึงการเปิดสถานีก๊าซธรรมชาติ NGV สำหรับยานยนต์ให้ครบทั้ง 13 แห่งภายในปีนี้จากปัจจุบันที่มีอยู่ 7 แห่ง โดยคาดว่าจะทำยอดขายเฉลี่ย 400,000 กิโลกรัมต่อวัน รวมถึงมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำมันภายใต้แบรนด์ ‘บางจาก’ และพื้นที่ค้าปลีกจำนวน 3 สถานี เข้ามาเพิ่มเติมอีกด้วย

ขณะที่ความคืบหน้าการผลิตและจำหน่ายถังคอมโพสิตบรรจุก๊าซธรรมชาติอัดภายใช้ชื่อ N4 ซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ที่บริษัทฯ มอบหมายให้ บริษัทโซจิทสึ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจเทรดเดอร์รายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้จัดจำหน่ายให้นั้น คาดเริ่มส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามได้ภายในปีนี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองถัง N4 มาใช้บรรจุก๊าซธรรมชาติอัดขนส่งไปยังโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อทดสอบประสิทธิภาพก่อนเริ่มต้นการผลิตเพื่อจำหน่าย ซึ่งจากการนำถัง N4 มาใช้ในธุรกิจ iCNG ครั้งนี้สามารถช่วยลดต้นทุนขนส่งและเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจได้เป็นอย่างมาก

ส่วนกลุ่มธุรกิจ EPC หรือ ธุรกิจออกแบบ ผลิต ติตตั้ง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่อยู่ในกลุ่ม Non-Recurring Income นั้น บริษัทฯ คาดว่าจะมีมูลค่างานในมือที่รอรับรู้รายได้ Backlog เกือบ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่างานในปัจจุบัน 425 ล้านบาท และงานใหม่ที่จะช่วยเพิ่ม Backlog อีก 400 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ในปีนี้ ล่าสุด SCN ยังได้ลงนามเข้าไปดำเนินโครงการวางระบบสถานีปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพ (Plant Upgrade CBG) รวมทั้งก่อสร้างสถานีอัดจ่ายก๊าซชีวภาพสำหรับยานยนต์ให้แก่ บริษัท อาร์อี ไบโอฟูเอลส์ จำกัด ซึ่งส่งผลดีต่อการรับรู้รายได้จากกลุ่มธุรกิจนี้มากขึ้น

จากแผนดำเนินงานในปีนี้จะทำให้บริษัทฯ เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 30-40% โดยการเติบโตดังกล่าว ไม่นับรวมรายได้จากการดำเนินโครงการรถเมล์ NGV ที่เตรียมส่งมอบรถเมล์ส่วนที่เหลือให้แก่ ขสมก.อีก 389 คัน หากศาลปกครองมีคำสั่งยกเลิกคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งบริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากการดำเนินโครงการนี้ตามสัดส่วนการถือหุ้นในกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ทันที รวมถึงยังรับรู้รายได้จากการซ่อมบำรุงรถเมล์ NGV ของ ขสมก. เป็นระยะเวลา 10 ปีอีกด้วย

ด้านผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/61 บริษัทมีรายได้รวม 774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 673.21 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 61.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.22% เทียบกับงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีกำไรสุทธิ 47.58 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยจากกลุ่มธุรกิจ Recurring Income ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจ iCNG ทำรายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 54.05% ขณะที่ธุรกิจสถานีบริการก๊าซธรรมชาติหลักโดยเอกชน (PMS) และธุรกิจขนส่งก๊าซ NGV ให้แก่ ปตท. ก็มีอัตราการเติบโตได้ดีเช่นกัน

ส่วนธุรกิจสถานีก๊าซธรรมชาติ NGV สำหรับยานยนต์ แม้ในไตรมาสแรกปีนี้ยังไม่มีการเปิดสถานีให้บริการเพิ่มเติม แต่มีการปรับสถานีให้บริการบางแห่งให้สามารถจำหน่ายน้ำมัน ภายใต้แบรนด์ ‘บางจาก’ รวมถึงเพิ่มพื้นที่ค้าปลีกภายในสถานี ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายน้ำมันและธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากการจำหน่ายเชื้อเพลิงเข้ามาเพิ่มเติม ขณะที่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ก็สามารถรับรู้รายได้การจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ขนาด 6.12 เมกวัตต์จากโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังบันทึกรายได้จากการส่งมอบรถเมล์ NGV ให้แก่ ขสมก. จำนวน 100 คันแรก ตามสัดส่วนการถือหุ้นในกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO จึงช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้เติบโตตามแผน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ