TPBI คาด H2/61 คำสั่งซื้อสินค้ากลุ่มทรานฟอร์เมชั่นเพิ่มช่วยชดเชยการอ่อนตัวผลิตภัณฑ์พลาสติกหูหิ้ว

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 14, 2018 18:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกมล บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ. ทีพีบีไอ (TPBI) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นดำเนินกลยุทธ์ทรานฟอร์เมชั่นธุรกิจในกลุ่มบรรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภท General Packaging โดยเตรียมพัฒนานวัตกรรมสินค้าบรรจุภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อเทรนด์ตลาดโลกที่เปลี่ยนไปเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งการทรานฟอร์เมชั่นของบริษัทฯ จะช่วยสร้างความยั่งยืนและเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นได้ดีขึ้น โดยปัจจุบันสินค้ากลุ่มดังกล่าวเริ่มเข้ามาชดเชยการรชะลอตัวคำสั่งซื้อถุงหูหิ้วแบบเดิมอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ TPBI ยังมีแผนเพิ่มสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์ High Value Added ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนสำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภค (Flexible Packaging) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตรากำไรสูงกว่า โดยจะเริ่มเดินเครื่องจักรเชิงพาณิชย์เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคจากโรงงานแห่งใหม่ปลายไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 100 ล้านเมตรต่อปี

และในไตรมาส 2 นี้ TPBI ได้เริ่มโครงการขยายกำลังการผลิตกลุ่ม Multilayer Blown Film แล้ว โดยโครงการดังกล่าวจะทำให้กำลังการผลิตกลุ่ม Multilayer Blown Film มีกำลังเพิ่มขึ้นอีก 2,500 ตันต่อปี จากเดิมที่มีกำลังการผลิตรวม 9,000 ตันต่อปี ซึ่งทั้งสองโครงการจะเข้ามาช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

"เราเชื่อมั่นว่าสินค้าในกลุ่มทรานฟอร์เมชั่นจะมียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นสัญญาณที่ชัดเจนตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไปและเมื่อรวมกับปัจจัยบวกด้านการเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนบรรจุภัณฑ์ Flexible Packaging ที่มีอัตรากำไรที่ดี จะทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานของเราฟื้นตัวได้ค่อนข้างชัดเจน" นายกมล กล่าว

ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/61 (ม.ค.-มี.ค.) บริษัทฯ ทำรายได้รวม 1,136.98 ล้านบาท ลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากประสบความสำเร็จในการผลักดันยอดขายจากผลิตภัณฑ์ถุงหูหิ้วชนิด Reusable Soft Loop, ถุงขยะ, และถุงใส่ผักผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สามารถชดเชยการอ่อนตัวของคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ถุงหูหิ้วได้ดี รวมถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลุ่ม High Value Added อย่าง Flexible Packaging และ Multilayer Blown Film ก็มีการเติบโตที่ดีขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จากภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกรวมถึงต้นทุนวัตถุดิบก็ยังเป็นแรงกดดันที่สำคัญ ส่งผลให้กำไรสุทธิในไตรมาสแรกปีนี้ปรับตัวลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ