AEC มองกรอบแนวรับ SET สัปดาห์นี้ 1,690-1,700 จุด หวั่นสงครามค้าโลก-เฟดส่งสัญญาณขึ้นดบ.รอบใหม่กดดัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 6, 2018 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.เออีซี (AEC) มองทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์นี้ (6-8 มิ.ย.) คาดว่าตลาดจะยังให้ความสนใจกับประเด็นสงครามการค้าโลกที่มีทิศทางรุนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังสหรัฐฯประกาศเริ่มจัดเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากเม็กซิโก, แคนาดา และยุโรป ทำให้ประเทศเป้าหมายดังกล่าวเตรียมยื่นขอต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเช่นกัน สร้างความกังวลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่ ก็จะกดดันต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยต่อ โดยมองกรอบแนวรับดัชนีบริเวณ 1,690-1,700 จุด

ขณะที่ทางฝั่งจีนแม้ยังอยู่ระหว่างการระงับการตัดสินใจด้านมาตรการทางการค้าชั่วคราว แต่ล่าสุดสถานการณ์มีทิศทางแย่ลงหลังทำเนียบขาวระบุแผนจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเทคโนโลยี มูลค่าราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์ จากจีนขึ้นเป็น 25% กดดันบรรยากาศในการเจรจาระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กับรองนายกฝ่ายเศรษฐกิจของจีน ที่จัดขึ้นช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ในปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าของแผนแก้ปัญหาขาดดุลระหว่างสหรัฐฯ-จีนอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง

ส่วนตลาดหุ้นไทยช่วงสั้นมอง SET Index ผันผวนเชิงลบ (Sideway Down) เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศที่ต้องติดตาม อาทิ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ, ผลประชุมเฟดในวันที่ 12-13 มิ.ย.นี้ และปัญหาการเมืองในยุโรป และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ซึ่งยังกดดันบรรยากาศลงทุนและทำให้ Fund Flow ยังมีทิศทางไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคอยู่

ดังนั้น กลยุทธ์ลงทุนจึงยังคงแนะนำให้ "Wait&See" และค่อยกลับมาทยอยซื้อสะสมเมื่อดัชนีลงมาแนวรับสำคัญ 1,700 จุด ทั้งนี้ กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจและคาดจะ Outperform ตลาด ได้แก่ หุ้น Domestic Play ซึ่งยังโตดีและเป็นหลุมหลบภัยยามตลาดผันผวน ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น AP, SPALI, SC กลุ่ม โรงพยาบาล เช่น BDMS, BCH, RJH และกลุ่มค้าปลีก เช่น BJC, MC, HMPRO และ 2.หุ้น Top Picks ช่วงครึ่งหลังปี 61 ซึ่งพื้นฐานดีและกำไรยังมีแนวโน้มเติบโตสดใสเมื่อเทียบจากปีก่อนได้แก่ BDMS, BJC, AOT, BA, JKN, SAWAD, SPALI

อย่างไรก็ตามยังคงให้น้ำหนักการแกว่งตัวของ SET ยังเป็นไปตามแนวโน้มหลักของกรอบ Downtrend Channel ทั้งนี้การรีบาวด์อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างสัปดาห์ แต่มองจำกัดที่แนวต้านบริเวณ 1,730 จุด (แนวต้าน EMA 200 Day) และถัดไปที่ 1,745 จุด ซึ่งเป็นแนวต้านสำคัญ จากนั้นคาดว่าจะปรับตัวลงทดสอบบริเวณกรอบแนวรับ 1,690-1,700 จุด

อีกทั้งเทคนิคสำหรับนักเก็งกำไร เทรดด้วยกลยุทธ์ซื้อแนวรับ-ขายแนวต้าน และใช้การหลุดแนวรับเป็นจุด Stop Loss ส่วนนักลงทุนระยะกลาง ให้เริ่มทะยอยซื้อเมื่อดัชนีอ่อนตัวมาบริเวณกรอบแนวรับ กลุ่มที่คาดว่ายังมีโอกาสปรับตัวบวก ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) เช่น DELTA , KCE, HANA และ กลุ่มยานยนต์ (AUTO) เช่น AH , TNPC


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ