GBS มอง SET สัปดาห์นี้แกว่งกรอบ 1,700-1,750 จุด หลังสนช.ผ่านร่างกม.งบฯปี 62 วาระแรก แต่ยังจับตาปัจจัยตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 12, 2018 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.โกลเบล็ก (GBS) มองดัชนี SET สัปดาห์นี้แกว่งตัวในกรอบ 1,700-1,750 จุด ขานรับปัจจัยบวกภายในประเทศ หลังร่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 62 ในวาระแรก ซึ่งจะผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 62 โต 3.9-4.9% ตามการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกภาคส่วนของรัฐบาล ขณะที่ตลาดยังจับตาหลายปัจจัยต่างประเทศที่จะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ GBS กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ได้รับผลบวกจากภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2/61 ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรกจากปัจจัยการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 62 วาระแรกซึ่งมีกรอบวงเงิน 3 ล้านล้านบาท เป็นขาดดุลงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท บนสมมติฐานเศรษฐกิจไทยในปี 62 จะขยายตัวได้ 3.9-4.9% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการใช้จ่ายในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาคครัวเรือน

การลงทุนของภาคเอกชน และความคืบหน้าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้าง ตลอดจนการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เติบโตได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมถึงการส่งออกของไทยในปี 2561 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากเศรษฐกิจของทั้งประเทศคู่ค้าหลักและรองยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกปีนี้เติบโตราว 8-9%

ส่วนปัจจัยที่ยังคงกดดันภาวะตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ มาจากสงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐฯและประเทศคู่ค้า อาทิ สหภาพยุโรป (EU) แคนาดา เม็กซิโก จีน หลังสหรัฐฯประกาศใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม การที่สหรัฐฯอาจยกเลิกข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ทำให้ประเทศคู่ค้าเตรียมใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ในด้วยมาตรการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ประกอบกับการประชุมธนาคารกลางสหรัฐกลางสัปดาห์นี้มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับ 1.50-1.75% เป็น 1.75-2%

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ยังคงกดดันภาวะหุ้นไทยมาจากราคาน้ำมันชะลอตัวจากระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี จากความกังวลถึงกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึง Fund Flow ไหลออกต่อเนื่อง ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติ 6.8 พันล้านบาท และดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.61 ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือนจากความกังวลราคาน้ำมัน ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ และกังวลปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน

สำหรับปัจจัยที่ยังคงต้องจับตา ได้แก่ วันที่ 12 มิ.ย.กำหนดประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐฯและเกาหลีเหนือที่สิงคโปร์ ,วันที่ 12-13 มิ.ย. กำหนดประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รู้ผล 14 มิ.ย.,วันที่ 14 มิ.ย. กำหนดประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) จับตาการส่งสัญญาณลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จากระดับ 3 หมื่นล้านยูโร/เดือน ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดในเดือน ก.ย.61 ,วันที่ 14-15 มิ.ย.การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) หลังญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลข GDP หดตัว 0.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และในวันที่ 15 มิ.ย.คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้เอกชนแสดงความจำนงประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์

ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ของ GBS คาดทิศทางตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มแผ่วลง คาดดัชนี SET ผันผวนในกรอบ 1,700-1,750 จุด แนะนำซื้อเก็งกำไร หุ้นที่มีปัจจัยบวก ได้แก่ PSL ได้อานิสงส์จากดัชนีค่าระวางเรือปรับตัวขึ้น 34% ในช่วง 7 วันทำการที่ผ่านมาสู่ระดับ 1,391 จุด หุ้นที่จะเข้าคำนวณดัชนี FTSE SET Mid Cap Index มีผล 18 มิ.ย. ได้แก่ GOLD, GULF, MBK และTHG รวมถึง UVAN ได้อานิสงส์จากการเก็งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมาตรการช่วยเหลือการส่งออกน้ำมันปาล์ม และ GGC และ EA อานิสงส์จากในเดือนก.ค.รัฐปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลจาก B7 เป็น B20

ด้านแนวทางการลงทุนในทองคำ คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแน่นอน 0.25% ในสัปดาห์นี้ ส่วน ECB อาจส่งสัญญาณลดหรือยุติ QE ก่อนหมดอายุโครงการ ทำให้ราคาทองคำมีแนวโน้มจะแกว่งผันผวนรับการปรับพอร์ตของนักลงทุน โดยการพบกันระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ กับนายคิม จอง อิล ผู้นำของเกาหลีเหนือในช่วงสุดสัปดาห์ คาดว่าจะไม่ได้ข้อสรุปที่ดีนัก จึงเป็นความเสี่ยงของตลาดการเงินต่อจากการประชุม G7 ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนกรานปกป้องการค้าของสหรัฐฯต่อไปด้วยการตั้งกำแพงภาษี ในขณะที่ประเทศคู่ค้าต่างก็พร้อมตอบโต้เช่นกัน

ทั้งนี้ คาดการณ์ช่วงสวิงระหว่าง 1,280–1,325 ดอลลาร์/ออนซ์ แนะกลยุทธ์รอ short เมื่อเข้าใกล้กรอบบน และ trading short เมื่อหลุดกรอบล่าง หรือ สำหรับพอร์ตเล่นสั้นที่เน้นปิดทำกำไรเร็วและมีวินัยในการตัดขาดทุน แนะ breakout follow เมื่อราคาออกจากช่วง 1,290–1,305 ดอลลาร์/ออนซ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ