TMB เผยสินเชื่อปีนี้โตราว 8% หรือกรอบล่างของเป้า 8-10% หลัง 5 เดือนยังต่ำกว่าเป้ารับผลกระทบจากสินเชื่อเอสเอ็มอี

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 12, 2018 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อรวมของธนาคารในปี 61 คาดว่าจะเติบโตราว 8% หรืออยู่ที่กรอบล่างของเป้าหมายที่ธนาคารตั้งเป้าเติบโต 8-10% หลังกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเป้าหมายจะต้องการให้เติบโตมากที่สุดนั้น ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาดีเท่าที่ควร แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมากแล้ว แต่ภาคธุรกิจเอสเอ็มอียังไม่ได้รับอานิสงส์ มองว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนจะกลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่

สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การขยายตัวของสินเชื่อรวมยังไม่เป็นไปตามคาดการณ์ จากการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ต่ำกว่าเป้าหมาย ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องจากความต้องการใช้สินเชื่อ แต่ธนาคารไม่ได้เน้นขยายการปล่อยสินเชื่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มากนัก เพราะเป็นกลุ่มสินเชื่อที่ให้มาร์จิ้นต่ำ หากปล่อยมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อกำไรของธนาคาร แม้ว่าจะช่วยให้การขยายตัวของสินเชื่อเป็นไปตามเป้าหมายก็ตาม

"การฟื้นตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีนั้นยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกสักระยะหนึ่ง แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มขยายดีขึ้นก็ตาม โดยปกติธุรกิจเอสเอ็มอีนั้นจะเป็นลักษณะตายก่อนฟื้นที่หลัง ทำให้การฟื้นตัวมีระยะเวลาที่นานกว่าธุรกิจใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่า สามารถคว้าโอกาสได้ทันทีในจังหวะที่เศรษฐกิจเริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง"นายปิติ กล่าว

นายปิติ กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลังธนาคารจะยังรุกการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้น จากการคาดการณ์ว่าภาคธุรกิจเอสเอ็มอีจะฟื้นตัวขึ้น อีกทั้งสินเชื่อเอสเอ็มอียังเป็นกลุ่มที่ให้มาร์จิ้นสูง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) เพิ่มขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมายของธนาคารที่ตั้งไว้ในสิ้นปีนี้ที่ 3.05% จากไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 3.02%

ส่วนระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในสิ้นปี 61 เชื่อว่าจะยังควบคุมให้อยู่ในระดับเป้าหมายไม่เกิน 2.4-2.6% จากไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 2.4% โดยแนวโน้มของ NPL ในปัจจุบันอยู่ในระดับทรงตัว ไม่มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยกลุ่มที่ยังมีคุณภาพหนี้ลดลงมาจากกลุ่มเกษตรและค้าปลีกบางรายที่ยังไม่มีการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน แต่ธนาคารยังไม่มีความกังวลมากนัก

อีกทั้งการควบคุม NPL ของธนาคารยังมีการตัดจำหน่ายหนี้เสียออกไปทุกไตรมาส เพื่อควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงตามความเหมาะสมที่ธนาคารได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ