GBS มอง SET สัปดาห์นี้รับปัจจัยลบตปท.กดดันตลาด ให้กรอบ 1,670-1,705 จุด คาด H2/61 มีปัจจัยบวกเศรษฐกิจโตหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 19, 2018 10:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.โกลเบล็ก (GBS) มองดัชนี SET สัปดาห์นี้รับปัจจัยลบจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะความกังวลจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้ยังเป็นประเด็นกดดันตลาด โดยให้กรอบการเคลื่อนไหวบริเวณ 1,670-1,705 จุด แต่ยังมองหุ้นไทยมีปัจจัยบวกจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังนี้มีทิศทางเติบโตดีต่อเนื่องก็ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศไทยด้วย

น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ งคงมีปัจจัยกดดันจากสงครามการค้ามีแนวโน้มยืดเยื้อ หลังสหรัฐประกาศรายการสินค้านำเข้าจากจีนที่จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 25% เพื่อตอบโต้ที่จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ ขณะที่จีนก็ตอบโต้ด้วยการประกาศบัญชีรายการสินค้าสหรัฐที่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเช่นกัน

รวมถึงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินมีแนวโน้มทยอยความเข้มงวดมากขึ้น จากที่เคยใช้นโยบายผ่อนคลายในช่วงก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปลายปีนี้ ประกอบกับราคาน้ำมันชะลอตัวจากความกังวลเกี่ยวกับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทอ่อนค่า และ Fund Flow ไหลออกต่อเนื่องในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 3.1 หมื่นล้านบาท ยังคงกดดันต่อภาวะตลาดหุ้นไทย

อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยยังได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังนี้ยังคงเติบโตดี เป็นภาพของการฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐ ที่มีการเติบโตได้ค่อนข้างดี รวมถึงคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เล็งปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และการเติบโตของการส่งออกในปีนี้ตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกซึ่งมีแนวโน้มดี และน่าจะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนภาคท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 61 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.6 ล้านคน ขยายตัว 12.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตาในวันที่ 20 มิ.ย. กำหนดประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4/2561 เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดว่ากนง.น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิม และในวันเดียวกันนี้มีกำหนดประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เพื่อพิจารณาว่าจะเลื่อนการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 ออกไปจากเดิมในปี 62 หรือไม่ และธนาคารกลางญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานการประชุมที่ได้ประชุมระหว่าง 14-15 มิ.ย. ซึ่งได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิมและการใช้นโยบายการเงินเชิงรุก รวมถึงในวันที่ 22 มิ.ย. มีกำหนดประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เกี่ยวกับกำลังการผลิตน้ำมัน และสหรัฐ อียู จีน กำหนดเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้น

ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มชะลอตัว คาดดัชนี SET ผันผวนในกรอบ 1,670-1,705 จุด แนะนำซื้อเก็งกำไรหุ้นที่มีปัจจัยบวก ได้แก่ HANA เลือกเป็น Top pick ของกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า เนื่องจากมี Div. Yield มากสุดราว 5.7% และมี Forward PER ใกล้ระดับต่ำสุดของกลุ่มที่ 12 เท่า และมีความเสี่ยงด้านต้นทุนวัตถุดิบต่ำสุดในภาวะราคาต้นทุนวัตถุดิบปรับขึ้นไปกว่า 20% ในปี 60

นอกจากนี้ยังแนะนำหุ้นที่มีโอกาสเป็นเป้าหมายในการทำ Window dressing ได้แก่ CPALL, ADVANC, CPN, EA, GPSC และ TVO รวมถึง GGC และ EA ได้อานิสงส์จากในเดือนก.ค.รัฐปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลจากสูตร B7 เป็น B20

ด้านแนวทางการลงทุนในทองคำ แรงกดดันจากการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องและถี่ขึ้น รวมทั้งการทยอยดึงเงินออกจากระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้น ส่งผลให้เงินไหลกลับสหรัฐฯ ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า ในขณะที่การส่งสัญญาณยุติ QE อย่างแน่นอนของ ECB และภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับชาติต่าง ๆ ก็เสริมให้เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่และสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้เงินดอลลาร์มีทิศทางที่แข็งค่าอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ จึงกดดันให้ราคาทองคำดิ่งลงหลุดระดับ 1,300 ดอลลาร์อีกครั้ง โดยแม้ว่าค่าเงินบาทที่อ่อนจะช่วยพยุงราคาในประเทศได้บ้างบางส่วน แต่แนวโน้มราคาทองคำมีความเสี่ยงจะหลุด 1,275 ดอลลาร์ ตามแรงกดดันที่ยังมีต่อเนื่องจากปัจจัยข้างต้น ซึ่งมีโอกาสที่ราคาจะลงมาตั้งหลักที่แนวรับบริเวณ 1,240 ดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม แนะนำ จับตา 1,280 ดอลลาร์ หากยืนได้ ควรรอจังหวะเล่น swing short เมื่อเข้าใกล้ระดับ 1,300 ดอลลาร์ แต่ถ้ายืนไม่อยู่ ควรถือหรือเล่นฝั่ง short เป็นหลัก โดยเน้นปิดทำกำไรเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน หรือ อาจเลือก trading short ในสินค้า Gold-D


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ