ฟิทช์ คงอันดับเครดิต PTTGC ที่ระดับ AA(tha) แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 21, 2018 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล ( PTTGC) ที่ระดับ 'AA(tha)' อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ 'F1+(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ระดับ 'AA(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ โดย PTTGC เป็นผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันที่ครบวงจร รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำในปัจจุบันของบริษัทฯ ส่งผลให้บริษัทฯ มีความสามารถในการรองรับการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิต สำหรับแผนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นช่วยผลักดันการเติบโต: ปริมาณการขายของ PTTGC มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2561-2565 เนื่องจากกำลังการผลิตปิโตรเคมีใหม่ที่เพิ่มขึ้น บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินการผลิตของโรงงานผลิต liner low density polyethylene และ hexane-1 (mLLDPE project) ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกันที่ 434,000 ตันต่อปี ในไตรมาสแรกของปี 2561 และคาดว่าจะสามารถเริ่มการดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ของโรงงาน Methyl Ester 2 ซึ่งมีกำลังการผลิต 200,000 ตันต่อปีได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ในขณะที่โครงการใหม่ของบริษัทฯ ซึ่งได้แก่โครงการ propylene oxide และ polyol และโครงการ olefins reconfiguration project (ORP) จะช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัทฯ ในช่วงปี 2563-2564

อัตราส่วนหนี้สินที่ลดลงและการลงทุนขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้อยู่ในแผน: อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO-adjusted net leverage) ของ PTTGC ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 0.8 เท่าในปี 2560 (2559: 1.2เท่า) ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นและอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่ดีขึ้น ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ PTTGC จะสามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายลงทุนที่อยู่ในแผน (Committed capex) และ เงินปันผลในปี 2562-2565 ส่วนใหญ่ได้ ส่งผลให้ FFO-adjusted net leverage ของ PTTGC ยังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2561-2562

อย่างไรก็ตาม PTTGC มีค่าใช้จ่ายลงทุนที่อยู่ในแผนประมาณ 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงสามปีข้างหน้า และยังมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ฟิทช์จะทบทวนผลกระทบของแผนการลงทุนขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้อยู่ในแผนที่มีต่อสถานะทางเครดิตของบริษัทฯ เมื่อ บริษัทฯ มีข้อสรุปมูลค่าโครงการและโครงสร้างเงินลงทุนดังกล่าว

การผลิตที่ครบวงจรและต้นทุนการผลิตที่ต่ำ: PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูง ส่งผลให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มากกว่า และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับผู้ผลิตน้ำมันสำเร็จรูปและปิโตรเคมีอื่นๆ ในประเทศ

นอกเหนือจากนี้ PTTGC ยังมีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตเนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์ คือก๊าซธรรมชาติซึ่งจัดหาได้จากภายในประเทศ และบริษัทฯ ยังได้รับประโยชน์จากการที่มีสัญญาการจัดหาวัตถุดิบระยะยาวกับ บมจ. ปตท.(PTT) (อันดับเครดิตที่ AAA(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งช่วยลดความผันผวนของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบได้

ความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจ: อันดับเครดิตของบริษัทฯ ถูกลดทอนจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ตามวัฎจักรของธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ความผันผวนของอัตราส่วนกำไรของผลิตภัณฑ์ ค่าการกลั่น ราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำไรและกระแสเงินสดของบริษัทฯ นอกจากนี้ PTTGC ยังมีความเสี่ยงจากการกระจุกของแหล่งวัตถุดิบ เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตส่วนใหญ่มาจาก บมจ. ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ รับวัตถุดิบส่วนมากจาก ปตท. ได้ถูกบรรเทาลงจากการที่ ปตท. มีอันดับเครดิตที่แข็งแกร่ง และเป็นผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ในประเทศไทย

ความเชื่อมโยงกับ ปตท.: อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ PTTGC ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับอันดับเครดิตขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิตของบริษัทฯ เมื่อพิจารณาตัวบริษัทฯ โดยลำพัง (Standalone credit profile) ที่ 'AA-(tha)' การปรับดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ กับ ปตท. โดย PTTGC เป็นบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของ ปตท. และเป็นตัวจักรสำคัญในการขยายในธุรกิจปิโตรเคมีของ ปตท. โดยเห็นได้จากการที่ ปตท. ได้โอนธุรกิจปิโตรเคมีให้กับ PTTGC ในปี 2560 ทั้งนี้ผลประโยชน์ที่บริษัทฯ ได้รับจาก ปตท. บางส่วนเช่น การจัดหาวัตถุดิบก๊าซฯ และสัญญาการซื้อขายผลิตภัณฑ์ ได้สะท้อนอยู่ในอันดับเครดิตของบริษัทฯ โดยลำพังอยู่แล้ว

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

สถานะทางเครดิตโดยลำพัง (Standalone credit profile) ของ PTTGC ที่ 'AA-(tha)' สะท้อนถึงขนาดธุรกิจและการผลิตปิโตรเคมีที่ใหญ่ของบริษัทฯ รวมถึงต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เนื่องจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี สถานะทางธุรกิจของ PTTGC แข็งแกร่งที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต และมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งดังกล่าว PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีการผลิตปิโตรเคมีที่มากกว่าเมื่อเทียบกับบมจ. ไทยออยล์ (TOP) (อันดับเครดิตที่ AA-(tha) ซึ่งมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) นอกจากนี้ PTTGC ยังมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า TOP

PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีการกระจายตัวของธุรกิจปิโตรเคมีที่มากกว่าเมื่อเทียบกับบมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) (อันดับเครดิตที่ A-(tha) ซึ่งมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ BBB+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าและมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่ามาก

สมมุติฐานที่สำคัญ:

ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 70.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2561, 67.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2562, 57.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2563 เป็นต้นไป โดยมีการปรับปรุงด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ PTTGC

ค่าการกลั่นที่ปรับตัวลดลงในปี 2561, กำไรของธุรกิจอะโรเมติกส์ปรับลดลงเล็กน้อยในปี 2561 และค่อนข้างทรงตัวหลังจากนั้น กำไรของธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์อนุพันธ์โอเลฟินส์ ปรับลดลงเล็กน้อยในปี2561 และค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้นหลัง จากนั้นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจำนวน 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2561-2565 ทั้งนี้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายลงทุนที่อยู่ในแผนและค่าใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษา

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงาน และความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระหว่างบริษัทฯ กับ ปตท. ที่เพิ่มสูงขึ้น

การเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทฯ โดยลำพัง ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสองถึงสามปีข้างหน้า เนื่องจากแผนการลงทุนที่สูงของบริษัทฯ และคาดว่าการลงทุนใหม่ๆ เหล่านี้ยังไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทฯ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ได้

ปัจจัยลบ:

FFO-adjusted net leverage ที่สูงกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนที่ใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือ ค่าการกลั่นและส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับราคาวัตถุดิบที่อยู่ในระดับต่ำ

ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงาน และความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระหว่างบริษัทฯ กับ ปตท. ที่ลดน้อยลง

สภาพคล่อง

สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: สภาพคล่องของ PTTGC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 5.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งมากเพียงพอที่จะรองรับหนี้สินจำนวน 9.1 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ หนี้ที่จะครบกำหนดชำระในแต่ละปีในช่วงสามปีข้างหน้ายังมีจำนวนไม่สูงมากนัก แต่จะมีหนี้ที่ครบกำหนดชำระก้อนใหญ่ในปี 2564-2565 ซึ่งเป็นช่วงที่หุ้นกู้สกุลเงินบาท จำนวนรวม สองหมื่นล้านบาท และ หุ้นกู้สกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯ จะครบกำหนดชำระ นอกจากนี้สภาพคล่องโดยรวมของบริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำในปัจจุบัน และความสามารถในการระดมทุนผ่านตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ