(เพิ่มเติม) KBANK เปิดตัว"Pay with K PLUS"เพิ่มความสะดวกจ่ายเงินออนไลน์ตั้งเป้ามูลค่าธุรกรรมกว่า 3 หมื่นลบ.ใน 1 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 25, 2018 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารเปิดตัวบริการชำระเงิน Pay with K PLUS บนแพลทฟอร์มเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ สร้างประสบการณ์ชำระเงินแบบไร้รอยต่อให้กับนักช็อปออนไลน์ ผู้ซื้อจ่ายเงินได้ง่าย สะดวก และปลอดภัย เพียงกดปุ่ม Pay with K PLUS ไม่ต้องวุ่นวายสลับหน้าจอเพื่อเปิดแอพพลิเคชั่นในการชำระเงิน ทำให้การชำระค่าสินค้าและบริการรวดเร็ว สะดวก และปลอดภัย โดยตั้งเป้าหมายมีมูลค่าธุรกรรมผ่านบริการ Pay with K PLUS รวมกว่า 30,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าวว่า บริการ "Pay with K PLUS" ตอกย้ำความมุ่งมั่นของธนาคารในการพัฒนานวัตกรรมชำระเงินดิจิทัลเพย์เม้นต์ (Digital Payment) ทำให้การชำระเงินง่าย สะดวก รวดเร็ว อีกทั้งบริการนี้ยังช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจซื้อขายออนไลน์ให้กับลูกค้ารายย่อยและเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กที่นิยมใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารตั้งแต่การแนะนำสินค้าไปจนถึงการชำระเงิน

"ปัจจุบัน ธนาคารมีลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ซื้อและใช้แอพ K PLUS รวมกว่า 8.4 ล้านราย มีจำนวนธุรกรรมการโอนเงินเพิ่มขึ้นสูงถึง 88% ภายหลังประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียม รวมถึงจำนวนร้านค้าที่ใช้แอพ K PLUS SHOP อีก 1.4 ล้านร้านค้าซึ่งมีมูลค่าธุรกรรมการรับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด (QR Code) รวมกว่า 4,000 ล้านบาท ถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการขยายช่องทางการขายบนเฟซบุ๊ก จากฐานลูกค้าและนวัตกรรมการให้บริการชำระเงินล่าสุดนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับบริการชำระเงิน Pay with K PLUS" นายพัชร กล่าว

ในช่วงการเปิดตัวบริการชำระเงิน Pay with K PLUS ธนาคารจัดโปรโมชันสำหรับลูกค้าที่ชำระเงินผ่าน Pay with K PLUS เป็นครั้งแรก และมีมูลค่าครบ 300 บาท/รายการ รับเงินคืน 100 บาท ตั้งแต่วันนี้ – 25 กันยายน 2561 สำหรับร้านค้าที่ผูกบัญชีธนาคารกสิกรไทยเพื่อรับชำระเงินผ่านบริการ Pay with K PLUS สามารถรับโบนัสสูงสุด 5,000 บาท เมื่อมีจำนวนรายการรับชำระสำเร็จตามที่กำหนด ตั้งแต่วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2561 นอกจากนี้ ธนาคารได้นำเสนอสินเชื่อเอสเอ็มอีให้กับลูกค้าผ่านแอพ K PLUS เมื่อลูกค้าได้รับการแจ้งเตือนบนเมนู Life PLUS ลูกค้าสามารถกดเข้าไปเลือกวงเงินที่ต้องการกู้ ระบบจะแสดงวงเงินกู้สูงสุดที่ลูกค้าสามารถกู้ได้ เมื่อผ่านการพิจารณาและลูกค้ากดรับสินเชื่อ เงินกู้จะเข้าบัญชีทันที

ปัจจุบันธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มบริการในแอพพลิเคชั่นให้กับลูกค้า เพื่อให้การบริการแก่ลูกค้ามีความสะดวกสบายมากขึ้น พร้อมกับเป็นช่องทางในการให้สินเชื่อกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยการร่วมกับ Facebook ในครั้งนี้ธนคารได้เตรียมวงเงินสำหรับการให้สินเชื่อหมุนเวียนกับแม่ค้าออนไลน์อยู่ที่ 2 พันล้านบาท โดยจะให้แม่ค้าออนไลน์ที่ต้องการใช้สินเชื่อเฉลี่ย 200,000-1,000,000 บาท/ราย โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 10% เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนรองรับการทำธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม นายพัชร คาดว่าการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการแอพพลิเคชั่น K Plus ในปีนี้จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน 10.4 ล้านราย เนื่องจากการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่รุนแรงขึ้น จากการแข่งขันในด้านโปรโมชั่นของธนาคารต่างๆ และการที่ลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยส่วนใหญ่ได้สมัครใช้บริการ K Plus ไปเกือบหมดแล้ว ทำให้การเพิ่มจำนวนลูกค้าเริ่มทำได้ยากขึ้น

ปัจจุบันมีผู้ใช้แอพพลิเคชั่น K Plus อยู่ที่ 8.4 ล้านราย โดยธนาคารมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะมีลูกค้าที่ใช้เพิ่มเฉลี่ย 150,000 ราย/เดือน ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนลูกค้าในสิ้นปีนี้อยู่ที่ 9 ล้านราย

ขณะที่ภาพรวมของสินเชื่อในครึ่งแรกปีนี้ของธนาคารยังสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย ซึ่งมีปัจจัยหนุนมาจากการเติบโตของสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่ที่เป็นปัจจัยผลักดันหลัก โดยที่สินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตสูงถึง 12% มากกว่าเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้เติบโต 5-7% ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนของภาคเอกชนที่มีการลงทุนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ทำให้มีความต้องการสินเชื่อมาจากภาคเอกชนมากขึ้น ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีไม่มีการเติบโตขึ้น หรือเติบโต 0% และสินเชื่อรายย่อยมีการเติบโตเพียงเล็กน้อยที่ 2-3%

อย่างไรก็ตามธนาคารยังมั่นใจว่าสินเชื่อรวมในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5-7% โดยที่ในช่วงครึ่งปีหลังยังมองว่าสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่จะเป็นตัวผลักดันการเติบโตของสินเชื่อรวมในปีนี้ โดยที่ในช่วงครึ่งปีหลังจะยังมีโครงการประมูลของรัฐออกมาอีก ซึ่งธนาคารมีความพร้อมในการสนับสนุนสินเชื่อให้กับลูกค้า

ด้านแนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในช่วงครึ่งปีแรกยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของ NPL ในครึ่งปีแรกมาจากกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อย โดยที่ธนาคารมองว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ NPL ในครึ่งปีแรกยังไม่มีความน่ากังวล และในสิ้นปี 61 จะควบคุม NPL ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3.3-3.4%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ