(เพิ่มเติม1) กสทช.เคาะประมูลคลื่น 900 MHZ วันที่ 18 ส.ค.-คลื่น 1800 MHz วันที่ 19 ส.ค.พร้อมปรับเกณฑ์ซอยย่อยเป็น 9 ใบอนุญาต

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 25, 2018 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช.เห็นชอบข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม ให้จัดการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ (MHz) ในวันที่ 18 ส.ค.และจัดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในวันที่ 19 ส.ค.นี้

พร้อมกันนั้น ยังจะมีการปรับหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่น 1800 MHz โดยแบ่งใบอนุญาตที่จะจัดการประมูลออกเป็น 9 ใบ ขนาดความถี่ใบละ 5 MHz ผู้ประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นใบละ 12,486 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 2,500 ล้านบาท

สำหรับกรอบเวลาในการจัดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz จะดำเนินการคู่ขนานกันไป ดังนี้

-วันที่ 5 ก.ค.61 จะนำร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ทั้งย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ทั้งสองฉบับไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

-วันที่ 6 ก.ค.-7 ส.ค.61 ดำเนินการเชิญชวนและรับเอกสารคำขอผู้สนใจเข้าร่วมการประมูล

-วันที่ 8 ส.ค.61 เปิดให้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูล

-วันที่ 9-13 ส.ค.61 พิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล

-วันที่ 15 ส.ค.61 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ

-วันที่ 16-17 ส.ค.61 ชี้แจงกระบวนการประมูลและ Mock Auction

-วันเสาร์ที่ 18 ส.ค.61 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 900 MHz

-วันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค.61 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 1800 MHz

ทั้งนี้ กสทช.ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช.นำร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. ในส่วนที่เกี่ยวกับใบอนุญาตที่จะปรับเป็นใบอนุญาตแบบใบเล็ก 9 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 MHz เป็นเวลา 3 วัน ในวันที่ 26-28 มิ.ย.61 ก่อนจะนำมาพิจารณาในที่ประชุม กสทช. อีกครั้งในวันที่ 2 ก.ค.61

นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช.ยังรับทราบที่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) มีหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช.แจ้งความพร้อมจะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz

โดยทาง DTAC มีเงื่อนไขว่า หาก DTAC เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz และชนะการประมูล DTAC มีความจำเป็นต้องขอใช้คลื่นทั้งหมด 10 MHz ตามสัมปทานเดิมไปก่อนเป็นเวลาประมาณ 2 ปี ระหว่างที่ยังไม่ได้มีคลื่นย่านนี้ไปใช้ในกิจการรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาล เนื่องจากปัจจุบัน DTAC มีจำนวนอุปกรณ์สถานีฐานภายใต้ระบบสัมปทานอยู่ประมาณ 13,000 สถานี ที่จะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงการใช้งานให้สอดคล้องกับคลื่นย่านใหม่ด้วย

อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz ยังคงเหมือนเดิม คือ ใบอนุญาต 1 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 MHz โดยแบ่งการชำระออกเป็น 4 งวด ดังนี้ งวดที่ 1 ชำระ 4,020 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 90 วัน, งวดที่ 2 ชำระ 2,010 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต, งวดที่ 3 ชำระ 2,010 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต และงวดที่ 4 ชำระเงินค่าประมูลส่วนที่เหลือทั้งหมด ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต

นายฐากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กสทช. ได้กำหนดวันประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 18 ส.ค.61 โดยหากมีผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นดังกล่าวเพียง 1 ราย กสทช. จะดำเนินการยืดระยะเวลาออกไปอีก 30 วัน นับจากวันประมูล เพื่อขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการค่ายมือถือรายอื่นได้เข้าร่วมประมูล และจะเข้าสู่กระบวนการเยียวยาทันที ในกรณีที่ดีแทค ต้องเข้าประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เท่านั้น ซึ่งหากดีแทคไม่เข้าร่วมประมูล ก็จะไม่ได้รับสิทธิในการเยียวยา ซึ่งทาง DTAC จะต้องเร่งดำเนินการย้ายลูกค้าไปยังคลื่นที่มีอยู่ ก่อนหมดสัมปทานคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ในวันที่ 15 ก.ย.61

"นอกจาก DTAC แล้ว ยังไม่มีรายอื่นที่แจ้งความประสงค์ว่าจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz ขณะที่คลื่น 1800 MHz เชื่อว่า เมื่อแบ่งใบอนุญาตเป็น 9 ใบอนุญาต ก็น่าจะมีคนสนใจเข้าร่วม เนื่องจากมีความสามารถในการชำระเงินค่าใบอนุญาตได้มากขึ้น และหากขายไม่หมด 9 ใบ ทางกสทช. ก็อาจจะเก็บไว้สักระยะหนึ่งก่อน หรือเปิดประมูลต่อไปเลย ส่วนกรณีที่ไม่มีใครเข้าประมูลเลย ก็จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบอร์ดกสทช.ต่อไป"

นอกจากนี้ในส่วนของผู้ที่ชนะประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz กสทช.ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ผู้ชนะประมูลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้รับภาระในการลงทุนระบบป้องกันการรบกวนรถไฟฟ้าความเร็วสูงของภาครัฐ ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2.2 พันล้านบาท โดยทางกสทช. จะหักจากเงินค่าประมูลคลื่นดังกล่าวไม่เกิน 2 พันล้านบาท เช่น ราคาเริ่มต้นประมูล 37,988 ล้านบาท หากประมูลไปถึง 40,000 ล้านบาท ผู้ชนะประมูลจะต้องจ่ายค่าใบอนุญาต ประมาณ 38,000 ล้านบาท เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ