เอเซีย พลัส มอง SET ปีอาจไปไม่ถึงเป้า 1,772 จุดหลังมอง H2/61 ยังถูกดดันจากปัจจัยลบ แต่แนะเพิ่มน้ำหนักลงทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 27, 2018 12:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.เอซีย พลัส มองตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปี 61 ยังคงเผชิญกับกระแสเงินทุน (Fund Flow) ที่ไหลออกต่อเนื่องจากที่คาดการณ์ว่าสหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและประเทศคู่ค้าที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น จึงอาจจะทำให้ดัชนีไปไม่ถึงเป้าหมาย 1,772 จุดที่เคยประเมินไว้

แต่อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยมีการปรับฐานเกิดขึ้น ทำให้มี Upside ราว 7% จึงแนะนำให้นักลงทุนสามารถเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็น 40% ของพอร์ต จากเดิม 30% โดยกลยุทธ์การลงทุนยังเน้นหุ้นกลุ่ม Domestic Play ใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น และกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากความคืบหน้าการลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน

นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายวิจัย บล.เอซีย พลัส กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 61 เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น จากสงครามการค้าโลกที่ขยายกว้าง โดยขณะนี้ไม่ใช่แค่สหรัฐฯกับจีนเท่านั้นที่เป็นคู่พิพาทกัน แต่สหรัฐฯยังเปิดศึกการค้ากับยุโรป เม็กซิโก และแคนาดา ทำให้หลายประเทศดังกล่าว ตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเช่นกัน หลังจากสหรัฐฯได้ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมทั่วโลกไปก่อนหน้านี้

จากการศึกษาของธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่าการกีดกันทางการค้าทุก ๆ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะกระทบต่อการค้าโลกปี 61 หดตัวราว 9% จากปีก่อนที่มูลค่าการค้าโลกอยู่ที่ 38 ล้านล้าดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่วงเงินกีดกันการค้าจากสหรัฐฯอาจขึ้นไปแตะ 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ผลกระทบรุนแรงขึ้น และไม่ได้กระทบเฉพาะผู้ผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น แต่ผู้ผลิตสินค้าสนับสนุนการส่งออก (Supply Chain) ก็กระทบไปด้วย

ขณะทื่ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น ตามมาด้วยแรงกดดันเงินเฟ้อและกระทบเศรษฐกิจโลกในท้ายที่สุด โดยที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (GDP) ปี 61-62 ตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ไว้อยู่ที่ขยายตัว 3.9% เป็นการเติบโตจากฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯและยุโรป

สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนี้มองว่าแนวโน้มของกระแสเงินทุนยังไหลออกต่อเนื่อง เพราะคาดว่าสหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด นับตั้งแต่ต้นปี 61 จนถึงปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นภูมิภาคเอเชียกว่า 1.93 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหุ้นไทยถูกขายมากที่สุดในกลุ่ม TIP (ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์)

อย่างไรก็ตาม มองว่าจากนี้ไปแรงขายหุ้นในภูมิภาคน่าจะจำกัดลง สะท้อนจากการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ 23.2% รวมกับการถือผ่าน NVDR อีก 7.01% เป็น 30.20% ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับระดับสูงสุดที่ 36.88% เมื่อสิ้นเดือนมี.ค. 55 สอดคล้องกับสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่าไตรมาส 3/61 ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยเฉลี่ยเล็กน้อย 771 ล้านบาท

"ไตรมาส 3 และช่วงครึ่งปีหลัง เรื่องสงครามการค้าจะรุนแรงขึ้น กลายเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เรื่องดอกเบี้ยก็เช่นกัน สหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด เงินทุนก็จะยังไหลออก สองเรื่องนี้จะเป็นประเด็นหลักที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย"นางภรณี กล่าว

นางภรณี กล่าวว่า ภาพรวมกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดช่วงไตรมาส 2/61 จะอ่อนตัวลงจากไตรมาสแรก แต่กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันและปิโตรเคมี อาจจะได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ทำให้มีกำไรจากสต็อกน้ำมัน แต่ทางฝ่ายวิจัยฯ ได้ปรับลดคาดการณ์กำไรตลาดปี 61 มาอยู่ที่ 1.10 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 110.70 บาท/หุ้น จากประมาณการเดิมที่ 1.12 ล้านล้านบาท และ EPS ที่ 112.39 บาท/หุ้น สำหรับตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ช่วงที่ผ่านมามีการปรับฐาน ทำให้ระดับ Expected P/E ลงมาอยู่ที่ราว 15 เท่า และมี Upside ราว 7% โดยอิง P/E 16 เท่า ทำให้ได้ดัชนี SET Index เป้าหมายที่ 1,772 จุด ในสิ้นปีนี้ ซึ่งปัจจุบันคาดว่าจะไม่ถึงระดับดัชนีเป้าหมายในช่วงสิ้นปีนี้ ดังนั้น จึงแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็น 40% ของพอร์ต จากเดิม 30%

กลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นกลุ่ม Domestic Play ใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มปลอดภาระหนี้ กลุ่มมีหนี้กับสถาบันการเงินน้อย กลุ่มมีภาระดอกเบี้ยจ่ายในอัตราคงที่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่จะได้รับประโยชน์จากความคืบหน้าการลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน ที่มีสัญญาณดีขึ้น ขณะที่ให้หลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่อย่างไรก็ตามมองว่าตลาดหุ้นตอบรับความกังวลจากประเด็นสงครามการค้าไประดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังต้องดูทาทีของประธานาธิบดีสหรัฐฯว่าจะมีท่าทีอ่อนข้อลงหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ