FPI หวังบาทอ่อนต่อเนื่องดันรายได้ปีนี้โต 5-10% บนสมมติฐาน 33-34 บาท/ดอลลาร์,ลุ้นรับผลดีสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 27, 2018 15:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) มองแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจะช่วยผลักดันให้รายได้ของบริษัทในปีนี้เติบโตราว 5-10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,051.18 ล้านบาท โดยประเมินบนสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในช่วง 33-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากบริษัทฯมีสัดส่วนการส่งออกไปยังต่างประเทศสูงถึง 86%

ขณะที่บริษัทได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ของค่ายรถยนต์ต่างๆ ประกอบกับบริษัทได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มเติมเข้ามาจากค่ายรถยนต์ MAZDA หลังจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนในประเทศออสเตรเลียปิดตัวลง ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีคำสั่งซื้อล่วงรอส่งมอบ (Backlog) มูลค่า 700-800 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ราว 50% ในส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้เข้ามาในปี 62

สำหรับอัตรากำไรสุทธิปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 12-13% จากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 9.96% แม้ว่าช่วงไตรมาส 1/61 ที่ผ่านมาจะได้ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นมาก ทำให้อัตรากำไรสุทธิลดลงไปเหลือเพียง 5.31% แต่ปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วทำให้อัตรากำไรปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

นอกจากนั้น ในปีนี้บริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการเข้าร่วมทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 7.5 เมกะวัตต์ในจังหวัดนราธิวาสเข้ามาเติมปี หรือราว 100-120 ล้านบาท และยังมีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 1 เมกะวัตต์ ในอำเภอลอง จังหวัดแพร่ ที่จะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ต้นไตรมาส 3/61 เป็นต้นไป คิดเป็นเม็ดเงินราว 10 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ยังจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนในประเทศอินเดีย ของ ALP FPI PARTS PRIVATE LIMITED ซึ่งบริษัทฯถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 45%

นายสมพล กล่าวอีกว่า ในปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ราว 200-300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาโรงงานให้เป็นระบบออโตเมชั่นมากขึ้น ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รวมไปถึงการติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคาโรงงานเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานเป็นหลัก

ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้น นายสมพล เชื่อว่า บริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบในด้านลบ แต่ในทางกลับกันน่าจะเป็นผลดีต่อประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการในประเทศจีนมายังประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้เติบโตตามไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ