ส.นักวิเคราะห์ฯ หั่นเป้า SET สิ้นปีเหลือ 1,795 จุด จาก 1,860 จุด กังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย-เงินทุนไหลออก

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 11, 2018 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการและกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน ปรับลดค่าเฉลี่ยดัชนี SET Index สิ้นปี 61 อยู่ที่ 1,795 จุด ลดลงจากเดือนก่อนที่คาดไว้ 1,860 จุด โดยปัจจัยที่จะส่งผลกระทบในด้านลบต่อตลาดทุนไทยที่กลุ่มสำรวจให้ความสำคัญ คือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากไทย รวมถึงปัจจัยทางการเมืองในต่างประเทศ

นอกจากนี้คาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดอยู่ที่ 110.58 บาทต่อหุ้น ลดลงจากเดือนก่อนที่คาด 110.64 บาทต่อหุ้น และ ปรับลด EPS Growth ลงมาเหลือเติบโต 10.78% จากเดือนก่อนคาด 11.04 %

ทั้งนี้ 5 หุ้นเด่น ที่กลุ่มสำรวจแนะนำตรงกัน ได้แก่ บมจ.บ้านปู (BANPU) โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ ราคาถ่านหินที่อยู่ในระดับสูง และส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าที่แข็งแกร่งเป็นตัวหนุนกำไรเติบโตในไตรมาส 2/61 , ธนาคารกรุงเทพ (BBL) โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น , บมจ.ซีพีออล์ (CPALL) โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง หนุนการใช้จ่ายบริโภคในประเทศให้มีการเติบโต , บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มปิโตรเคมีจากการซื้อกิจการและส่วนต่าง PTA เพิ่มขึ้น และ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ โดดเด่นทั้งกำไรและเงินปันผล

สำหรับ การสำรวจครั้งนี้มีตัวแทนทีมวิเคราะห์การลงทุน ทั้งหมด 29 บริษัท แบ่งเป็น บริษัทหลักทรัพย์ 24 บริษัท ,บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 4 บริษัท และธุรกิจโกลด์ ฟิวส์เจอร์ส 1 บริษัท

ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน 37.93% มองว่าดัชนี SET ในระยะสั้น เป็นไปในทิศทางบวก ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถาม 34.48% มีมุมมองต่อตลาด Sideways หรือไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก และ 27.59% มองว่าตลาดจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางลบ พร้อมทั้งคาดว่าดัชนี SET ณ สิ้นเดือน ก.ค.จะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,629 จุด โดยปัจจัยที่มีผลกระทบในระยะสั้น คือเรื่องสงครามการค้าโลก ,ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/61 และ Fund Flow ของต่างชาติและกองทุน

ส่วนระยะเวลาที่เหลือจากนี้ไปตลอดปีนั้น คาดว่ามีปัจจัยที่จะส่งผลด้านบวก ได้แก่ เศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ ที่รวมแนวโน้มการเลือกตั้ง เป็น 2 ปัจจัยที่ผู้ตอบแบบสำรวจเทคะแนนให้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลบวก ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจโลก ได้รับการโหวตมาที่ 41.38% ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจ ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลด้านลบ ได้แก่ ทิศทางดอกเบี้ยของเฟด ,Fund Flow ไหลออกของต่างชาติ และการเมืองในต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ