PTTGC คาดสรุปดีลพันธมิตรผลิตสินค้าเกรดพิเศษอีก 2-3 โครงการภายในปีนี้ หลังร่วมมือ Kuraray-Sumitomo

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 11, 2018 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรต่างชาติเพื่อร่วมมือผลิตสินค้าเกรดพิเศษ (speciality products) อีก 2-3 โครงการภายในปีนี้ หลังจากล่าสุดได้ร่วมมือกับกลุ่ม Kuraray และ Sumitomo เพื่อสร้างโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ PA9T และ HSBC ซึ่งเป็นสินค้าเกรดพิเศษ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะก่อสร้างโรงงานในไทยแล้วเสร็จในต้นปี 65 ซึ่งจะผลักดันปริมาณการผลิตและขายสินค้าเกรดพิเศษเพิ่มเป็น 30% ใน 5 ปีข้างหน้าจากปัจจุบันที่อยู่ต่ำกว่า 10%

"เรายังคุยอยู่กับอีก 2-3 โครงการ ก็เป็น speciality ก็จะมีญี่ปุ่นร่วมด้วย วันนี้เรายังมี speciality ไม่เยอะยังต่ำกว่า 10% แต่ 5 ปีจากนี้เราอยากเห็น 30%" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า วันนี้บริษัทได้เปิดตัวบริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ระหว่างบริษัทถือหุ้น 33.4%, บริษัท Kuraray Co.,Ltd. (KRR) ประเทศญี่ปุ่น 53.3% และ บริษัท Sumitomo Corporation (SC) จากญี่ปุ่น ถือหุ้น 13.3% เพื่อสร้างโรงงานผลิต High-Heat Resistant Polyamide-9T (PA9T) กำลังผลิต 13,000 ตัน/ปี และ Hydrogenated Styrenic Block Co-Polymer ( HSBC) กำลังผลิต 16,000 ตัน/ปี ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก จ.ระยอง ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 65 โดยโครงการมีมูลค่าลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท

สำหรับ PA9T เหมาะสำหรับขึ้นรูปชิ้นงานที่มีความละเอียดซับซ้อน มีความแข็งแรงทนทาน สามารถใช้ทดแทนโลหะในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ทำให้รถยนต์มีน้ำหนักลดลงและประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ส่วน HSBC มีคุณสมบัติเหมือนยางและพลาสติก สามารถฉีดขึ้นรูปได้ง่ายและนำกลับมารีไซเคิลใช้งานใหม่ได้เหมือนพลาสติก โดยการรุกเข้าสู่การผลิตทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจที่ต้องการขยายธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายเกรดพิเศษ เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีปริมาณความต้องการและอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ PTTGC จะเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบบิวทาไดอีนให้กับโครงการราว 2 หมื่นตัน/ปี ซึ่งมีคุณภาพสูงและเพียงพอทำให้สามารถแข่งขันได้ ขณะที่การผลิตจะใช้เทคโนโลยีของ Kuraray ส่วน Sumitomo จะช่วยส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับตลาด ในช่วงแรกจะเป็นตลาดส่งออกเป็นหลักที่มีความต้องการเติบโตเกือบ 10% ต่อปี โดย PA9T มีเอเชียเป็นตลาดที่สำคัญ ส่วน HSBC มีตลาดอยู่ทั่วโลก ส่วนความต้องใช้ในประเทศยังค่อนข้างน้อยมาก แต่ก็คาดหวังจะเติบโตได้ในอนาคต

ปัจจุบัน Kuraray มีโรงงานผลิต PA9T ในญี่ปุ่น แต่กำลังผลิตไม่มากนักเมื่อเทียบกับโรงงานแห่งใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นในไทย ซึ่งเป็นระดับ world scale ส่วนโรงงานผลิต HSBC มีอยู่ในสหรัฐฯแต่ผลิตสินค้าคนละเกรดกับสินค้าที่จะผลิตในไทย

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวงเงินลงทุนตามแผน 5 ปี ที่จะใช้ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) วงเงินราว 1.67 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มทยอยการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ