ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ LHFG วงเงินไม่เกิน 2 พันลบ. ที่ระดับ "BBB+/Positive"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 13, 2018 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (LHFG) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้ม "Positive" หรือ "บวก" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "BBB+" ด้วย

โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะความเป็นบริษัทโฮลดิ้งในกลุ่ม แอล เอช ไฟแนนเชียลกรุ๊ป โดยมีธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่บริษัทถือหุ้น 99.99% เป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม อันดับเครดิตสะท้อนถึงการได้รับเงินปันผลที่สม่ำเสมอจากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

แนวโน้มอันดับเครดิต "Positive" หรือ "บวก" สะท้อนถึงโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต และผลการดำเนินงานที่มีโอกาสปรับตัวดีขึ้น จากการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับ CTBC Bank Co., Ltd. (CTBC Bank) จากไต้หวัน ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะเงินกองทุนและคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการที่ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อและเงินฝากที่ค่อนข้างเล็ก การกระจุกตัวของกลุ่มลูกค้าเงินกู้รายใหญ่ และการพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่

ทริสเรทติ้งคาดว่าประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรกับ CTBC Bank ประกอบด้วย การเพิ่มขึ้นของฐานลูกค้าและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ของธนาคารและบริษัทย่อยอื่นของกลุ่ม ซึ่งได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Securities) และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (LH Fund) รวมถึงโอกาสในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศที่เปิดกว้างขึ้น ในปัจจุบัน ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทยที่มีหุ้นซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าสินทรัพย์รวมของธนาคารอยู่ที่ระดับ 230,289 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 มีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อและเงินฝากขนาดเล็กที่ 1.3%

อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของบริษัทแอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย มีอัตราส่วนอยู่ที่ระดับ 19.51% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 นโยบายเงินปันผลของธนาคารยังคงอยู่ที่ระดับ 40% ของกำไรสุทธิ

สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารมีสัดส่วนอยู่ในระดับสูงที่ระดับ 63% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 ส่งผลถึงความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ แม้กระนั้น คุณภาพสินทรัพย์ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ระดับ 1.93 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ระดับ 3.2% ซึ่งสะท้อนถึงสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพสูง

ต้นทุนทางเครดิตเฉลี่ยของธนาคารก็อยู่ในระดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ต้นทุนทางเครดิตระหว่างปี 2556 ถึง 2560 ของธนาคารมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.65% โดยต้นทุนทางเครดิตในปี 2560 อยู่ที่ 0.42% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมระหว่างปี 2556 ถึง 2560 อยู่ที่ 1.32% สำหรับสัดส่วนปริมาณสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 109% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 เพิ่มขึ้นจาก 104% ณ สิ้นปี 2560

แหล่งเงินทุนของธนาคารอ่อนแอกว่าแหล่งเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ สะท้อนถึงสัดส่วนของฐานเงินฝากรายย่อยที่ค่อนข้างเล็กในขณะที่มีการพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ในระดับสูง ซึ่งเป็นลักษณะของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก โดยมีสัดส่วนของบัญชีเงินฝากขนาดใหญ่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์อีกหลายแห่งที่จัดอันดับโดยทริสเรทติ้ง สัดส่วนเงินฝากต่อแหล่งเงินทุนรวมอยู่ที่ระดับ 79% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่ 86%

อย่างไรก็ดี ธนาคารได้ขยายฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current Account-Savings Account - CASA) ต่อเงินฝากรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ระดับประมาณ 60% โดยตัวเลขของธนาคารเพิ่มขึ้นจากระดับ 42% ณ สิ้นปี 2558 อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ระดับ 97% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของกลุ่ม อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเมื่อรวมตั๋วแลกเงินจะอยู่ที่ระดับ 85% ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ยังได้ให้เงินกู้แก่บริษัทแอล เอช ไฟแนนเชี่ยล กรุ๊ป และบริษัทย่อยอื่น ๆ ของบริษัทด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต "Positive" หรือ "บวก" ของบริษัทสอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่า CTBC Bank ยังให้การสนับสนุนทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ธนาคารจะสามารถขยายฐานลูกค้าและเพิ่มสัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ และ/หรือขยายฐานเงินฝากและสินเชื่อ ส่งผลให้สามารถลดการกระจุกตัวของฐานลูกค้าลงได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้โดยขึ้นอยู่กับความสำเร็จของธนาคารในการขยายธุรกิจ หากประสบความสำเร็จธนาคารจะมีฐานลูกค้าครอบคลุมทั้งสินเชื่อและเงินฝากที่กระจายตัวมากขึ้น สัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิต่อรายได้รวมจะมีค่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมมากขึ้น หากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ประสบความสำเร็จดังกล่าว ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์สถานะเงินทุนและความสามารถในการทำกำไร อันดับเครดิตก็สามารถปรับขึ้นได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ