CIMBT เผย H1/61 สินเชื่อรายย่อยโตแล้ว 5-6% จากเป้าทั้งปี 10% ครึ่งหลังหวังสินเชื่อบ้านโตดีตามคอนโดฯแนวรถไฟฟ้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 16, 2018 13:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า สินเชื่อรายย่อยในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตแล้ว 5-6% จากเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งเป้าโต 10% โดยสินเชื่อบ้านเติบโตแล้ว 3% สินเชื่อรถยนต์มือ 2 เติบโต 5-6% และสินเชื่อไม่มีหลักประกันเติบโต 4 พันล้านบาท โดยปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันรวมอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท

เป้าหมายปีนี้ธนาคารตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อบ้านเติบโต 1.8 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบัน 7 หมื่นล้านบาท สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือ 2 ตั้งเป้าเติบโต 1.2 หมื่นล้านบาท จากพอร์ตปัจจุบัน 2.4 หมื่นล้านบาท สินเชี่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ 4 พันล้านบาท จากพอร์ตปัจจุบัน 4.8 พันล้านบาท และสินเชื่อไม่มีหลักประกันตั้งเป้าเติบโต 4 พันล้านบาท จากพอร์ตปัจจุบัน 9 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ธนาคารเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังสินเชื่อบ้านจะยังเติบโตได้ดีอยู่ ซึ่งมียอดอนุมัติในเดือนที่ผ่านมาทำได้ 2 พันล้านบาท โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้ายังมีความต้องการจากลูกค้าอยู่เป็นจำนวนมากจากที่ต้นปีคาดไว้ว่าจะชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยอมรับว่าสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันปีนี้จะไม่มีการเติบโต หรืออยู่เพียงแค่ทรงตัวจากปีก่อนเท่านั้น เนื่องจากกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเฉพาะคุณสมบัติเกี่ยวกับรายได้ของผู้กู้ที่ต้องมากกว่า 30,000 บาท/เดือน ทำให้ไม่สามารถขยายฐานลูกค้าที่มีรายได้ต่ำที่มีเป็นจำนวนมากไม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันธนาคารมีลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท/เดือนถึงราว 85% ของพอร์ตทั้งหมด

สำหรับกรณีที่ ธปท.มีความกังวลถึงการที่ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อมากกว่า 90% ของหลักประกัน หรืออัตราส่วนการให้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านเทียบกับมูลค่าบ้าน (LTV) นั้น ทางธนาคารให้ความสำคัญกับอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) มากกว่า LTV ซึ่งเฉลี่ยธนาคารก็ให้ 85-95% ซึ่งขึ้นกับกลุ่มของลูกค้า แต่ถ้ารวมประกันชีวิตและประกันอัคคีภัยอาจถึง 100%

"เรามองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ ธปท.เป็นห่วง แต่เรามองทางด้านภาระหนี้ต่อรายได้มากกว่าหลักประกัน ซึ่งโดยปกติ DSR เฉลี่ยที่ 50% จากระบบที่อยู่ 40%"นายอดิศร กล่าว

ทางด้านช่องทางการเสนอขายผลิตภัณฑ์ของธนาคารนั้น ธนาคารมีการปรับรูปแบบการเสนอขายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าตามความเหมาะสม เพราะช่องทางการเสนอขายผลิตภัณฑ์มีผลต่อการเติบโตของสินเชื่อ เนื่องจากธนาคารต้องใช้ช่องทางออนไลน์เสนอผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า จากเดิมพนักงานจะเสนอขายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางโทรศัพท์ โดยทำให้ปีนี้ธนาคารต้องเพิ่มงบการตลาดเป็น 30-40 ล้านบาท จากเดิมไม่ถึง 10 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ