(เพิ่มเติม) "ซิตี้แบงก์"มองศก.-ตลาดหุ้นโลกดีขึ้นช่วง H2/61 แม้เสี่ยงตึงเครียดทางการค้า แนะกระจายลงทุนสินทรัพย์หลากหลายภูมิภาค

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 18, 2018 12:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในครึ่งปีหลังภาพรวมของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากหลากหลายปัจจัยที่สนับสนุน อาทิ อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นทั่วโลก การปฏิรูปภาษีในสหรัฐอเมริกา การประเมินมูลค่าราคาของตลาดเกิดใหม่ที่ยังคงถูกกว่าตลาดอื่น ๆ และผลประกอบการที่แข็งแกร่งของตลาดเกิดใหม่

ในด้านของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาที่เหลือของปี 61 และยังคาดการณ์ว่าอัตราแลกเปลี่ยนในค่าเงินดอลาร์สหรัฐฯจะแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น แต่จะอ่อนค่าลงต่อไปในระยะปานกลางถึงระยะยาว เนื่องจากการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นและความตึงเครียดทางการค้ากับประเทศจีนและโซนยุโรป ในทางกลับกันมองว่าค่าเงินยูโรจะแข็งค่าขึ้นในระยะปานกลาง เนื่องจากเศรษฐกิจมีการเติบโตขึ้นและมีการไหลเข้าของเงินลงทุน และมีมุมมองบวกกับค่าเงินบาทไทย และค่าเงินวอนเกาหลี

นอกจากนี้สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ มาตรการป้องกันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงด้านการเมืองในแต่ละภูมิภาค สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับประเทศคู่ค้า ที่ยังคงมีอยู่ในครึ่งปีหลัง 61 อย่างไรก็ตามแม้ว่าสถานการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะช้าลงในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ "ซิตี้แบงก์" ยังคงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกปี 2561 จะยังคงมีการขยายตัว 3.4% ซึ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี และคาดว่าว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะคงที่ ที่ 2.4%

สำหรับการลงทุน นักวิเคราะห์ซิตี้แบงก์ แนะนำให้กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลากหลายภูมิภาค โดยให้น้ำหนักการลงทุนไปที่ภูมิภาคตลาดเกิดใหม่ ยุโรป และประเทศญี่ปุ่น โดยกลุ่มหุ้นวัฏจักรที่มีมุมมองบวก ได้แก่ กลุ่มพลังงาน กลุ่มการเงิน และกลุ่มเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังแนะนำการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative investment) และกองทุนรวมผสม (Multi-Asset) เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอ ด้านตราสารหนี้ ซิตี้ให้น้ำหนักการลงทุนไปในตราสารหนี้เอกชนสหรัฐที่จัดอยู่ในระดับน่าลงทุน (US Investment Grade) และ ตราสารหนี้ไฮยิลด์สหรัฐฯที่ให้ผลตอบแทนสูง (High-Yield Bond)

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.2% ในปี 61 และปี 62 โดยมีปัจจัยหลักที่สนับสนุน ได้แก่ การลงทุนและการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นจากภาคสาธารณะและภาคเอกชน รวมถึงธุรกิจส่งออกของประเทศไทยที่มีการเติบโตสูงกว่าที่คาดการณ์ ถึงอย่างไรก็ตาม ซิตี้ยังคงมองถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากความกังวลทางการค้าและกฎหมายการใช้จ่ายของภาครัฐที่เข้มงวดขึ้น ด้านระดับอัตราเงินเฟ้อในปี 61 มองว่าโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.4% และจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.8% ในปี 62 ด้านค่าเงินบาทไทยยังคงมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นในปี 61

นายดอน กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะแข็งค่าขึ้นอยู่ในกรอบ 32.5-32.8 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลมาจากแนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังจากช่วงที่ผ่านกระแสเงินทุนได้ไหลกลับไปที่สหรัฐฯมากแล้ว จากประเด็นสงครามการค้าที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศเกิดใหม่ และส่งผลให้ตลาดหุ้นในประเทศเกิดใหม่ช่วงครึ่งแรกปีนี้มีผลตอบแทนติดลบ และทำให้ในช่วงปลายปีมีโอกาสที่กระแสเงินทุนจะไหลกลับเข้ามาในตลาดเกิดใหม่อีกครั้ง ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้

ซิตี้แบงก์ ยังคงมีมุมมองเป็นบวก หรือ Overweight ต่อตลาดหุ้นในเอเชียอยู่ เพราะเศรษฐกิจในตลาดหุ้นเอเชียยังขยายตัวได้ดี และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง อีกทั้งราคาหุ้นในตลาดเอเชียช่วงครึ่งปีแรกลดลงไปค่อนข้างมาก และมีการเทรดที่ระดับ P/E ต่ำกว่า P/E ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้ซิตี้แบงก์ มองว่าตลาดหุ้นในเอเชียยังมีความน่าสนใจและเป็นโอกาสที่กลับเข้าไปลงทุนอีกครั้งในครึ่งปีหลัง และคาดว่าจะเห็นกระแสเงินทุนไหลกลับไปสู่ตลาดหุ้นเอเชียในช่วงปลายปี หนุนให้ผลตอบแทนตลาดหุ้นเอเชียกลับมาเป็นบวกได้

ส่วนการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1/62 หรือไตรมาส 2/62 โดยที่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือปีนี้ เพราะอัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 1.50% ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อยู่ ประกอบกับมุมมองของธนาคารต่อการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ในช่วงที่เหลือของปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้นเพียง 1 ครั้ง หรือปรับขึ้นทั้งหมด 3 ครั้งในปี 61 ต่างจากมุมมองนักวิเคราะห์สถาบันอื่นที่คาดว่าเฟดจะปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ หรือปรับขึ้นรวม 4 ครั้งในปี 61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ