โกลเบล็ก มองแบงก์ประกาศงบ Q2/61 ดีหนุน SET แต่ปัจจัย ตปท.ยังกดดัน แนะเก็งกำไรหุ้น Q2/61 โต

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 24, 2018 11:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้นวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก (GBS) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยได้แรงหนุนจากการประกาศงบไตรมาส2/61 ของหุ้นธนาคารใหญ่หลายตัวออกมาดีกว่าคาด คาดนักวิเคราะห์ปรับประมาณการกำไรทั้งปีใหม่หลังเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 ออกไปอีก 1 ปีเป็น 1 ม.ค.63 และตัวเลขส่งออกเดือน มิ.ย.ขยายตัว 8.19% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 61 ขยายตัว 10.96% สูงสุดในรอบ 7 ปีหนุนการปรับเพิ่มเป้าส่งออกปีนี้

ส่วนปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทยในระยะนี้ คือ สงครามการค้ากลับมาสร้างความกังวลอีกหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ขู่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงินสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) เม็กซิโก และแคนาดาขู่จะตอบโต้สหรัฐ หากสหรัฐเรียกเก็บภาษีชิ้นส่วนและรถยนต์ และประธานาธิบดีทรัมป์วิจารณ์นโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาวันที่ 25 ก.ค.ยุโรปและสหรัฐมีกำหนดเจรจาการค้าที่กรุงวอชิงตัน วันที่ 26 ก.ค.กำหนดประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) วันที่ 30-31 ก.ค.กำหนดประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) วันที่ 31 ก.ค. ธปท.รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย และในวันที่ 31 ก.ค.-1 ส.ค.กำหนดประชุมเฟด

ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มผันผวน แนะนำเก็งกำไรในหุ้นที่คาดผลประกอบการเติบโตไตรมาส 2/61 ได้แก่ BANPU, BPP, IVL, JUBILE, DELTA, SVI, CPF, LH, TPIPP และ WHAUP ประกอบกับหุ้นแบงก์ที่ประกาศผลประกอบการออกมาดีกว่าคาด และนักวิเคราะห์มีแนวโน้มปรับเพิ่มประมาณการ ได้แก่ KBANK, BBL, SCB และ KKP และหุ้นกลุ่มส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทอ่อนค่าสู่ 33.30 บาท/ดอลลาร์ ได้แก่ SVI, DELTA, CPF และ GFPT

ด้านแนวทางการลงทุนในทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า จากการคาดการณ์ผลกระทบของคำสัมภาษณ์ปธน.ทรัมป์ที่ระบุว่าจีนกดค่าเงินหยวนให้อ่อนเพื่อหวังผลประโยชน์ด้านการค้าระหว่างประเทศ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงทันที แต่ฝ่ายวิจัยคาดว่ามีผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น และมีโอกาสที่ดอลลาร์จะกลับมาแข็งค่าอีก

ทั้งนี้ ประเมินกรอบการรีบาวด์ของราคาทองคำจะถูกจำกัดอยู่ที่แนวต้าน 1,240 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์โดยความผันผวนของค่าเงินบาทจะเป็นความเสี่ยงหลัก จึงแนะนำให้พอร์ตระยะสั้นเก็งกำไรในสินค้า Gold-D โดยเน้น swing trade และปิดทำกำไรเร็วเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว ส่วนพอร์ตระยะกลางถึงยาว แนะนำให้ทยอยเข้าซื้อสะสมเมื่อราคาย่อลงเพื่อเล่นรอบหรือถือลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ