BEC วางเป้าดันธุรกิจโตทุกด้านหลังเผชิญศึกหนัก ปักธงรักษาเรทติ้ง-เพิ่ม Online-ส่งออกละคร มองโอกาสซื้อกิจการ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 2, 2018 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ซีอีโอ บมจ.บีอีซีเวิลด์ (BEC) วางเป้าหมายการดำเนินงานทุกธุรกิจในปีนี้จะดีกว่าปีก่อน หลังจากปรับกลยุทธ์จากเดิมพึ่งพิงสปอตโฆษณาทีวีเป็นหลักทำให้ต้องสู้กับการแข่งขันด้านราคาสูงกดดันมาร์จิ้นต่ำ จากผลพวงช่องทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นมาก แต่ปีนี้เริ่มเห็นความชัดเจนการหารายได้เพิ่มผ่านช่องทาง Online รวมทั้งการนำละครส่งขายต่างประเทศได้รับการตอบรับดีในจีน ฮ่องกง มาเก๊า รวมทั้งกลุ่ม CLMV สามารถสร้างมาร์จิ้น 2 หลักเชื่อว่าจะช่วยผลักดันผลการดำเนินงานของกลุ่ม BEC ให้ดีขึ้น

ขณะที่ในปี 63 บริษัทเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเข้าสู่ระบบ 5G ด้วยการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจาก Cost Center เป็น Profit Center สร้าง Business Unit ใหม่เพิ่มขึ้น พร้อมลงทุนทำละครหลายแนวป้อนผู้ชมต่างแดน และมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพื่อสร้างความหลากหลายของธุรกิจหวังยกระดับเป็น Content Provider ครบวงจร

"ตอนนี้ยากลำบากทุกช่อง ก่อนมีดิจิทัลเป็นอนาล็อกก็มีช่อง 7 กับช่อง 3 ช่องอื่นยังไม่แข็งแรง ช่อง 7 ก็มีตลาดของเขา เราก็ต่างคนมีจุดขาย แต่เมื่อมี Player มาก จึงมีสงครามราคา ตอนนี้ดิสเคาท์มันลงไปเยอะ เม็ดเงินหายไปที่ให้ส่วนลด เป็นโอกาสเอเยนซี ลูกค้า"นายประชุม มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบมจ.บีอีซีเวิลด์ (BEC) ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"

นายประชุม กล่าวว่า นับตั้งแต่มีทีวีดิจิทัล 24 ช่องในปี 57 จากก่อนหน้ามีฟรีทีวีเพียง 6 ช่อง ทำให้มีการแข่งขันเรื่องราคาอย่างมาก ทุกช่องต้องปรับแผน เปลี่ยนข้อเสนอ ตัดราคา ให้สิทธิประโยชน์ และทุกวันนี้การแข่งขันยังสูง เพราะตราบใดที่มีจำนวนช่องยังมีมาก ก็ยังไม่เห็นภาพว่าสงครามราคาจะยุติลงได้อย่างไร

ปัจจุบัน อัตราค่าเวลาโฆษณาโดยเฉลี่ยของสถานีโทรทัศน์ลงมาใกล้ 1 หมื่นบาท/นาทีไปจนถึง 4 แสนบาท/นาที และยังมีการให้ส่วนลดเป็นรายกรณีไป นอกจากนั้น ตัวเลขภาพรวมโฆษณาในปีนี้คาดว่าจะลดลงราว 10% ซึ่งลดลงมาต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว โดยเม็ดเงินโฆษณาผ่านสปอตโฆษณาทีวีมีสัดส่วน 67% ของเม็ดเงินโฆษณาทั้งหมด

"ประเด็นที่เม็ดเงินโฆษณาหดตัว เพราะบางส่วนไม่ทำสปอตโฆษณาทางทีวี แต่หันไปเน้นทำอีเว้นท์ และ แคมเปญ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องไปทำอีเว้นท์และแคมเปญด้วย เราจึงต้องขยายไปตามนั้น ต้องเอาลูกค้าเป็นหลัก"นายประชุม กล่าว

อย่างไรก็ดี BEC ก็ยังมีรายได้หลักจากสปอตโฆษณาทีวี จึงต้องประคองเรทติ้งช่วง Primetime หรือช่วงหัวค่ำที่ยึดอันดับ 1 ของผู้ชมในเขตกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด ทั้งช่อง 3 อนาล็อก และช่อง 33 HD แต่รวมภาพทั้งประเทศอันดับ 1 ยังเป็นช่อง 7

ในส่วนคอนเท้นท์ได้มีการเพิ่มช่องทางรับชมมากขึ้น โดยเฉพาะช่องทาง online , Digital Platform ที่เริ่มมานานกว่า 2 ปีแล้ว โดยช่วงแรกเป็นการแนะนำช่องทางให้ลูกค้ารู้จัก หลังจากนั้นเป็นการทยอยเพิ่มการโฆษณาผ่านช่องทางนี้ ซึ่งทำให้เห็นการไหลของยอดการรับชมทั้ง Offline และ Online สลับกันไป แต่บางช่วงที่ได้รับความนิยม อย่างเช่น ละครบุพเพสันนิวาส มีการรับชมทั้ง Offline และ Online จำนวนสูงมากจนเรทติ้งดีขึ้นชัดเจนมาก

บริษัทยังพยายามปรับคอนเท้นท์ให้เข้ากับพฤติกรรมของคน ทั้งในช่วง Primetime กับ Mytime โดยช่องทาง Offline (ฟรีทีวี) จะเน้นไปที่ช่วง Primetime ซึ่งรายการสำคัญจะบรรจุไว้ในช่วงนี้เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดตรงนี้ให้ได้ แต่ Mytime เป็นลักษณะความสะดวก จึงใช้กลยุทธ์การเน้นที่ฟีเจอร์ในการชมและจำนวนคอนเท้นท์ เป็นช่องทาง Digital Platform แม้ว่าขณะนี้ตลาด Online ยังไม่ใหญ่กว่า Offline แต่มีอัตราการเติบโตของการใช้เม็ดเงินโฆษณามากขึ้นทุกปี สูงจนน่าตกใจ ซึ่งรวมทั้งโฆษณานอกบ้านด้วย

"เดิมเรามีไข่ใบเดียว คือสปอตโฆษณา ก็ต้องมีไข่เพิ่ม ไข่ไก่ ไข่เป็ด ทำฟาร์ม ขายเนื้อเป็ด เนื้อหมู ไม่พอ ก็ขายผัก คือเราต้องทำครบวงจรมากขึ้น เราต้องหนีสนามที่ทำแล้วเหนื่อยมาก มาร์จิ้นบางครั้งแทบไม่เหลืออะไร นอกจากสร้างแบรนด์ อาจจะติดลบด้วยซ้ำไป ก็ต้องหนีด้วย แต่รักษาไว้ว่าทำธุรกิจมีรายได้คุมค่าใช้จ่ายรักษากำไรให้ได้"นายประชุม กล่าว

นายประชุม กล่าวถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง คาดว่าจะดีกว่าครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากบริษัทจะเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้นอกเหนือจากค่าโฆษณาทางทีวี โดยการนำละครของช่อง 3 ไปขายในต่างประเทศมากขึ้น จากก่อนหน้าได้นำละครไปขายในตลาดต่างประเทศด้วยตนเอง แต่ขณะนี้ในจีนมี Tencent ซึ่งเป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตหรือบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของจีนเป็นพันธมิตร ถือว่าตลาดส่วนนี้มีอัตราการเติบโตที่ดี หรือมีมาร์จิ้นเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก

โดยบริษัทจะขับเคลื่อนตลาดต่างประเทศให้มีดีมานต์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรในการขายคอนเท้นท์ละครเพิ่มเติมอีกหลายราย โดยพันธมิตรที่จะซื้อละครอย่างแน่นอนมีไม่ต่ำกว่า 10 ราย และส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ และรวมไปถึงตลาดฮ่องกง มาเก๊า กลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมา) ที่บริษัทเข้าไปขายเอง

นายประชุม กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีละครบางเรื่องที่ขายคู่ขนานกับการออกอากาศในประเทศไทย อย่าง เรื่องลิขิตรัก ขณะเดียวกันก็จะมีการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในกัมพูชา คือ บริษัท PNN TV Cambodia ล่าสุดได้พาดาราชื่อดัง เบลล่า ราณี จากละครบุพเพสันนิวาสไปโชว์ตัว ซึ่งได้รับเสียงตอบรับได้ดี โดยบริษัทมองว่าการจัดทำอีเว้นท์ต่อยอดจากละครช่วยเพิ่มความนิยมจากแฟนละคร ขณะเดียวกันยังมีความร่วมมือต่อเนื่องกับ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย (JKN) ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายคอนเทนท์ละครช่อง 3 ในต่างประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากตลาดที่ทางบริษัทเป็นผู้ขายเอง

"ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้มีการเพิ่มช่องทางการรับชมมากขึ้น ทั้งทาง Online โดยมีการสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมา และ Line TV เป็นต้น เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับชมให้แก่ผู้ชมมากขึ้น รวมถึงจำนวนคอนเทนต์ด้วย ส่วนการรับชมผ่านทางทีวีโดยตรง (Offline) ในช่วง Primetime ยังคงเน้นรายการสำคัญๆ เพื่อเพิ่มยอดผู้เข้าชมให้ได้มากที่สุด หรือรักษามาร์เก็ตแชร์"นายประชุม กล่าว

ในครึ่งปีแรกบริษัทได้มีการปรับปรุงการดำเนินงานในหลายด้าน สิ่งสำคัญ คือ คอนเท้นท์ ที่จะต้องรักษาคุณภาพให้อย่างน้อยไม่แย่กว่าเดิม โดยพยายามทำให้ดีขึ้นและถูกจริตผู้ชม อย่างไรก็ตาม เรื่องจริตผู้ชมคาดเดาได้ยาก แต่บริษัทก็พยายามใช้กลยุทธ์กระตุ้นผ่าน Social Media ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญ แต่ผู้เล่นหลายรายก็ทำสงครามทาง Social Media เช่นกัน โดยเฉพาะช่อง 3 กับช่อง 7 ถือว่าแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในทุกสนามเพื่อแย่งผู้ชม

ปัจจุบัน รายได้หลักของกลุ่ม BEC มาจากสื่อโฆษณาทีวี 89% อีกสัดส่วน 7% มาจากสื่อ Online และ Global Licensing ที่เหลือมาจากอื่น อาทิ การขายบัตรคอนเสิร์ต เป็นต้น

*ช่วง 3-5 ปีเร่งปรับโมเดลธุรกิจ

สำหรับแผนการดำเนินงานของบริษัทในระยะ 3-5 ปีจากนี้ นายประชุม กล่าวว่า เนื่องด้วยในอนาคตจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (Big Change) อีกครั้งจากการมาของเทคโนโลยี 5G ภายในปี 63 ซึ่งจะมีผลต่ออุตสาหกรรมทีวีและมีเดีย รวมถึงจะเป็นปีที่ BEC หมดอายุสัญญาสัมปทานระบบอนาล็อกโดยสมบูรณ์กับ บมจ.อสมท.(MCOT) ที่จากเดิมมีค่าใช้จ่ายสัญญาสัมปทานปีละ 220 ล้านบาท จะเปลี่ยนมาเป็นระบบดิจิทัลทีวีเต็มตัว ส่งผลทำให้บริษัทต้องมีการเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจและที่มาของรายได้ โดยคาดว่ารายได้จากสื่อ Online และ Global Lincensing จะปรับตัวสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดี รายได้หลักก็ยังคงมาจากค่าโฆษณาทีวีเป็นหลัก

นอกจากนี้ บริษัทพร้อมจะลงทุนละครหรือคอนเท้นท์ป้อนตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยจะทำหลากหลายแนวละครไม่ว่าจะเป็นแนวแอ็คชั่น แนวสืบสวนสอบสวน แนวแฟนตาซี แนวสยองขวัญ เพื่อจับตลาดใหญ่กว่านี้ จากที่ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นละครแนวดราม่า เพราะจากการเข้าร่วมงานระดับโลก เช่น เทศกาลหนังเมืองคานส์ มีคนให้ความสนใจกับคอนเท้นท์จากไทยมากขึ้น จึงคิดว่าทางช่อง 3 ควรจะต้องมีความหลากหลาย นายประชุม กล่าวอีกว่า Core Business ของ BEC จะถูกปรับเปลี่ยนจาก Broadcasting มาเป็น Content Provider และจะทำให้ครบวงจร รวมทั้งขยายเป็น Entertainment ให้ครบวงจรด้วย ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ระหว่างศึกษาการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในบริษัทที่มีความหลากหลายของธุรกิจ แต่ยังมีสัดส่วนของธุรกิจคอนเท้นท์เป็นหลักอยู่ เพื่อสร้างการเติบโตของรายได้ในอนาคต คาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งจึงจะเห็นความชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ฐานะทางการเงินของบริษัทยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง จากปัจจุบันที่มีหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net D/E) อยู่ในระดับที่ต่ำ 0.52 เท่า ขณะเดียวกันในช่วงต้นปี 61 บริษัทก็ได้มีการขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นในการออกหุ้นกู้ไว้ในวงเงิน 4 พันล้านบาท เพื่อนำมาขยายธุรกิจ

"การย้ายตลาดจาก Red Ocean ไปสู่ Blue Ocean เพราะทำทุกวันนี้ก็หากำไรไม่ค่อยเจอ อย่างไรก็ดี ลักษณะของธุรกิจของบริษัทมีคละประเภท แต่ยังไงทีวีก็ยังเป็นหลัก ถ้าใช้สูตร build ไม่ง่าย การสร้างธุรกิจต้องลองผิดลองถูก แต่การเข้าซื้อกิจการ ก็ต้องมีความละเอียดในการเข้าซื้ออาจพลาดไป ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องเอ็กซเรย์ถี่ถ้วน การเข้าซื้อก็ต้องมองเทรนด์ให้ออกว่ากิจการที่ซื้อมาแนวโน้มธุรกิจดีหรือไม่ อย่างไรก็ดี ก็ต้องคุยกับบอร์ดเยอะและผู้ถือหุ้นด้วย"นายประชุม กล่าว

อย่างไรก็ดี ในพื้นที่เดิมช่วง 3-5 ปีจากนี้ฟรีทีวีก็ยังต้องทำเต็มที่เพื่อรักษาเรทติ้งและให้ทำให้ดีที่สุด ซึ่งจากการพิจารณาผลวิจัยตลาดพบว่าผู้ชมเปลี่ยนใจตลอดเวลา ยิ่งมีทางเลือกมากขึ้นก็ยิ่งคาดเดาได้ยาก ทุกเรื่องเป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย

ส่วนกรณีราคาหุ้น BEC จะมีทิศทางที่ดีขึ้นได้ บริษัทก็ต้องมีกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี ถึงแม้ปีนี้ไม่เพิ่มขึ้น แต่มี sentiment ว่า ใน 3 ปีหรือ 5 ปีข้างหน้ามีโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างมาก เนื่องจากบริษัทเริ่มวางแผนระยะกลางระยะยาวว่าอะไรจะเป็นส่วนที่สร้างให้เปิดขึ้นได้ และยังไม่หยุดคิด เพราะยังต้องทำการบ้านต่อไป แต่น้ำหนักที่สำคัญในขณะนี้คือต้องรักษาพื้นที่ให้ได้เสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะเจอทั้งศึกหน้าศึกหลัง "BEC ยังคงพัฒนาตัวเราเองอย่างต่อเนื่องไปตามโลกที่เปลี่ยนแปลง และปรับตัวให้แข็งแรงมากขึ้น แต่ยังคงรักษากลุ่มเป้าหมายหลัก โดยเรามีปฏิธาน คือ การสร้างความสนุก ความสุขสำราญ และการนำเสนอข่าวสารที่ถูกต้อง" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม BEC กล่าวทิ้งท้าย อนึ่ง ในปลายปี 56 BEC ได้ประมูลช่องทีวีดิจิทัลชนะ 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 33 HD ด้วยราคาใบอนุญาต 3,530 ล้านบาท ช่อง 28 SD ราคา 2,275 ล้านบาท และ ช่องเด็ก 13Family ด้วยราคา 666 ล้านบาท ซึ่งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสูงที่เป็นภาระของ BEC โดยล่าสุดทั้ง BEC ได้เข้าร่วมพักชำระค่าธรรมเนียบใบอนุญาตโดยชำระเพียงอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี (งวดปี 61-63) โดยงวดปี 61 จ่ายอัตราดอกเบี้ย 1.50% อ้างอิงตามดอกเบี้ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งช่อง HD จ่ายดอกเบี้ย 4.16 ล้านบาท ช่อง SD จ่ายดอกเบี้ย 3.13 ล้านบาท และช่องเด็ก จ่ายดอกเบี้ย 8.9 แสนบาท

ขณะที่ผลประกอบการในช่วง ปี 57 -60 BEC มีกำไรสุทธิ 4.41 พันล้านบาท, 2.98 พันล้านบาท , 1.21 พันล้านบาท และ 61.01 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนไตรมาส 1/61 พลิกเป็นขาดทุน 125.99 ล้านบาท

https://www.youtube.com/watch?v=Kh9FBRVzKO8&feature=youtu.be


แท็ก ซีอีโอ   (BEC)  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ