TPIPP คาดกำไรปีนี้กว่า 4 พันลบ.ต่ำกว่าเป้า หลัง COD โรงไฟฟ้าใหม่ล่าช้ากว่าแผน,ปี 62 มั่นใจกำไร-รายได้โตต่อเนื่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 8, 2018 10:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายโรงงาน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) คาดว่าผลการดำเนินงานปีนี้จะดีกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2.59 พันล้านบาท ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กำไรในปีนี้น่าจะทำได้กว่า 4 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ราว 5 พันล้านบาทที่ตั้งไว้เมื่อช่วงต้นปี หลังโรงไฟฟ้าใหม่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ล่าช้ากว่าแผน

ล่าสุด บริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะ-ถ่านหิน 70 เมกะวัตต์ (MW) หรือโรงไฟฟ้า TG7 จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้ว ซึ่งจะเริ่ม COD ในช่วงต้นเดือน ส.ค.ทำให้คงเหลือเพียงโรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 MW (TG8) ที่คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตจาก กกพ.ในช่วงไตรมาส 4/61 ซึ่งจะทำให้มีโรงไฟฟ้า COD ครบทั้งหมด 440 MW

ทั้งนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าที่สามารถเดินเครื่องได้ครบ 440 MW เต็มที่ในปีหน้า คาดว่าจะช่วยผลักดันรายได้ของบริษัทให้เพิ่มขึ้นมาที่ราว 1-1.1 หมื่นล้านบาทในปี 62 จากราว 8 พันล้านบาทในปีนี้ และหนุนให้กำไรเพิ่มขึ้นจากปีนี้ด้วย

"ปีนี้กำลังการผลิตเข้ามา 440 เมกะวัตต์ แต่ไม่เต็มปีรายได้ก็น่าจะใกล้ ๆ 8 พันล้านบาท ปีหน้าเดินเครื่องได้เต็มปีก็จะแตะ 1-1.1 หมื่นล้านบาท โรงไฟฟ้าเราลงทุนหมดแล้วเหลือแค่ใบอนุญาต ตอนนี้ก็เริ่มทยอยออก ใบสุดท้ายน่าจะได้ไม่เกินไตรมาส 4 ก็จะได้แล้ว ตอนต้นปีเราคาดว่าปีนี้จะได้กำไร 5 พันล้านบาท แต่ COD late ก็น่าจะได้กว่า 4 พันล้านบาท"นายวรวิทย์ กล่าว

นายวรวิทย์ กล่าวว่า ปัจจัยที่จะผลักดันให้ผลการดำเนินงานในปี 62 เติบโตขึ้นนอกเหนือจากการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ครบ 440 MW เต็มปีแล้ว บริษัทจะยังมีอัตราการใช้กำลังการผลิต (utilization rate) ดีขึ้นมาอยู่ระดับ 90% จาก 80% ในปีนี้ และ 70% ในปีที่แล้ว ขณะที่มีต้นทุนการผลิตลดลง หลังจากช่วงกลางปีนี้บริษัทได้เปิดโรงคัดแยกขยะและผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) เพิ่มอีก 4-5 แห่ง

ขณะที่ในปีหน้าคาดว่าจะยังไม่มีกำลังผลิตใหม่เข้าระบบ หลังจากที่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือครบแล้วทั้ง 440 MW ยกเว้นหากสามารถเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการ (M&A) ธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ COD แล้วได้เข้ามาเพิ่มเติม หลังจากที่ปัจจุบันมีผู้มานำเสนอโครงการในประเทศจำนวนมากทั้งโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ,ชีวมวล รวมถึงโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) แต่เบื้องต้นเห็นว่ายังไม่มีความน่าสนใจพอ

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ที่จะมีขึ้นในอนาคตทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะโครงการในต่างประเทศ อย่างในเวียดนาม, เมียนมา, ฟิลิปปินส์ ซึ่งหากมีการลงทุนก็จะเป็นการลงทุนในต่างประเทศครั้งแรกของกลุ่มบริษัท โดยได้ทำการศึกษาโรงไฟฟ้าหลายประเภททั้งขยะ ,ถ่านหิน ,ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

สำหรับการลงทุนในประเทศนั้น บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมเข้ายื่นประมูลเพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) 2 โครงการ ในพื้นที่อ่อนนุช และหนองแขม กำลังผลิตไฟฟ้าแห่งละ 20 เมกะวัตต์ และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ของจ.นครราชสีมา 1 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะทั้งสองหน่วยงานจะเปิดให้ยื่นประมูลในปีนี้

ทั้งนี้ หากบริษัทได้รับการคัดเลือกทั้ง 3 โครงการ กำลังผลิตรวม 50 เมกะวัตต์ ก็จะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงปลายปี 63 แต่ทั้งนี้ ยังต้องรอให้กกพ.ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะในรอบต่อไปก่อนด้วยเช่นกัน

นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กกพ.อยู่ระหว่างเปิดให้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากขยะชุมชน จำนวน 78 เมกะวัตต์ ตามบัญชีโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และข้อมูลศักยภาพระบบไฟฟ้า ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก (Quick Win Projects) ซึ่งเป็นของการที่เจ้าของโครงการซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีผู้ร่วมดำเนินการอยู่แล้ว โดยบริษัทไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการนี้ ขณะที่ Quick Win Projects จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 64

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) จะรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนมีสัญญาอยู่แล้ว 361 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้เป็นโครงการที่ COD แล้วกว่า 200 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการของบริษัท 180 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือยังเป็นโครงการที่ไม่มีความชัดเจนและอาจจะมีการทยอยยกเลิกในอนาคต ทำให้คาดว่าน่าจะจำนวนกำลังการผลิตคงเหลือเพื่อที่จะรอเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะรอบใหม่ตามโควตาที่เหลืออยู่ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ