ก.ล.ต.เล็งติดตามผล I Code ในปีหน้าให้ผู้ลงทุนสถาบันแจงการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 8, 2018 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในงานเสวนา "ขับเคลื่อนความยั่งยืนเชิงรุก: Driving Proactive Sustainability"ในการปาฐกถาพิเศษ "ขับเคลื่อนความยั่งยืนเชิงรุก"ว่า หลังจากที่ผู้ลงทุนสถาบันได้ร่วมลงนามการเจตนารมย์ที่จะใช้หลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (I Code) แล้ว ในปีหน้า ก.ล.ต.ก็จะติดตามผล โดยจะให้ผู้ลงทุนสถาบันเหล่านั้นเปิดเผยข้อมูลหรือแจ้งต่อ ก.ล.ต.ว่าได้ปฏิบัติตาม I Code ในข้อใดไปแล้วบ้าง และยังมีข้อใดที่ยังไม่ได้ดำเนินการปฎิบัติ โดยเชื่อว่าการกระตุ้นผ่านผู้ลงทุนสถาบันเพื่อให้เกิดแรงผลักดันจากสังคมนั้นจะมีส่วนช่วยสร้างความยั่งยืนแก่องค์กรได้สำเร็จ

ทั้งนี้ I Code เป็นแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันในการลงทุนอย่างรับผิดชอบ คำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของกิจการที่ไปลงทุน นอกเหนือจากปัจจัยด้านผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนเพียงอย่างเดียว ซึ่งล่าสุดมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) 52 แห่งร่วมแสดงเจตนารมย์ที่จะใช้ I Code และจะขยายไปยังองค์กรอื่นๆ ที่เป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบัน อย่างบริษัทประกัน หรือนักลงทุนส่วนบุคคล (private fund) ที่มีผู้ลงทุนสถาบันดูแล เป็นต้น

นายรพี กล่าวว่า การขับเคลื่อนตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืนในเชิงลึกนั้นที่ผ่านมานั้น ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมถึงสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้ผลักดันเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เป็นรูปธรรมมาโดยตลอด เพราะธรรมาภิบาล (Governance) จะเป็นการสร้างความมั่นใจของผู้ลงทุน ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืต่อตลาดทุนตามมา

สำหรับการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นมีองค์ประกอบหลัก 3 ด้าน ได้แก่ กฎระเบียบขั้นพื้นฐาน (Regulatory Discipline) ,จิตสำนึกในการปฏิบัติ (Self-Discipline) และแรงผลักดันจากสังคม (Market Force) โดยก.ล.ต.และตลท.แม้จะเป็นผู้ออกกฎเกณฑ์ แต่การดำเนินงานก็จะไม่ประสบความสำเร็จหากไม่มีจิตสำนึกในการปฎิบัติ และแรงผลักดันจากสังคม

ขณะที่การสร้างจิตสำนึกในการปฏิบัตินั้น แม้ปัจจุบันจะไม่มีการออกมาตรการควบคุมบริษัทจดทะเบียน แต่ก็มีการสร้างแรงจูงใจในด้านต่าง ๆ อย่างการให้รางวัลต่อองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) และเห็นว่าผู้ลงทุนควรจะเรียกร้องให้บริษัทจดทะเบียนมีการเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับความยั่งยืนซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนไปยังการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาก.ล.ต.ยังได้ออกแนวปฏิบัติที่สะท้อนความจำเป็นดังกล่าวไว้ในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน (CG Code) เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนนำไปเป็นแนวทางในการปฎิบัติด้วย ซึ่งการจะมีผู้ปฎิบัติตามได้นั้นคงต้องใช้เวลา แต่ก็คาดหวังว่าจะมีบริษัทขนาดใหญ่ที่จะเริ่มดำเนินการได้ก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ