SQ คาด H2/61 รับผลบวกซ่อมสายพานเหมืองแม่เมาะ 8 แล้วเสร็จ-เพิ่มการผลิตหงสา หลัง H1/61 พลิกขาดทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 14, 2018 12:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศาศวัต ศิริสรรพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สหกล อิควิปเมนท์ (SQ) กล่าวว่า ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.61 บริษัทสามารถซ่อมแซมติดตั้งและเปิดใช้งานระบบสายพานใหม่ของโครงการแม่เมาะ 8 ได้แล้ว หลังจากเกิดเหตุดินนอกพื้นที่ทำงานโครงการแม่เมาะ 8 ยุบลงตัวทำความเสียหายแก่ระบบสายพาน ขณะเดียวกัน บริษัทได้เพิ่มกำลังการผลิตในโครงการหงสาโดยเพิ่มจำนวนรถขุดและรถบรรทุกขนาดเล็กเพื่อทำงานขุดขนดินตั้งแต่เดือน ส.ค.61 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตมากขึ้นจากครึ่งปีแรกอย่างมีนัยสำคัญ

"ผลกระทบจากเหตุดินยุบตัวที่เหมืองแม่เมาะ ซึ่งกระทบต่อการทำงาน ของบริษัทฯในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาน่าจะจบสิ้นแล้ว การเปิดเดินระบบสายพานจะช่วยให้บริษัทฯ เพิ่มการขุดขนดินและถ่านหินขึ้นได้ถึง 4 เท่าตัว โดยบริษัทฯจะเร่งรัดงานในครึ่งปีหลังนี้และในปีหน้าอย่างเต็มที่เพื่อชดเชยกับปริมาณที่ลดลงจากผลกระทบจากดินยุบตัว และบริษัทฯมั่นใจว่า จะสามารถขุดขนดินและถ่านหินให้กับ กฟผ.ได้ตามสัญญา"

ทั้งนี้ ไตรมาส 2/61 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 57.7 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 165.5 ล้านบาท และขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/61 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 38.5 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวม 819.3 ล้านบาท ลดลง 10.69% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลง 2.09% จากไตรมาสแรกปี 61

ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 61 บริษัทฯมีรายได้รวม 1,656.13 ล้านบาท ลดลง 285.16 ล้านบาท หรือลดลง 14.69% ขณะที่มีผลขาดทุน 96 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 391.38 ล้านบาท

ปัจจัยหลักเกิดจากราคางานขุดขนดินต่อหน่วยตามสัญญาของโครงการแม่เมาะ 8 โดยใช้ระบบสายพานจะต่ำกว่าราคางานในช่วง 2 ปีแรกที่ใช้รถบรรทุกซึ่งมีต้นทุนสูง ส่วนต้นทุนเพิ่มขึ้น 375.06 ล้านบาท หรือ 30.8% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจาก 1.ต้นทุนค่าเสื่อมราคาโครงการแม่เมาะ 8 เพิ่มขึ้นจำนวน 102.1 ล้านบาท จากการปรับแผนการทำงานที่ต้องใช้รถบรรทุกทำงานแทนระบบสายพานซึ่งเมื่อระบบสายพานกลับมาทำงานได้ ต้นทุนค่าน้ำมันจะลดลง

2. ต้นทุนค่าเสื่อมราคาโครงการแม่เมาะ 8 เพิ่มขึ้นจำนวน 142.3 ล้านบาท จากจำนวนเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้น 3.ต้นทุนค่าแรงงานเพิ่มขึ้นจำนวน 37.4 ล้านบาท ตามแผนบุคคลากรของโครงการแม่เมาะ 8 ซึ่งต้องรับบุคลากรเพื่อเตรียม ความพร้อมล่วงหน้า และ 4.ต้นทุนน้ำมันโตรงการหงสาเพิ่มขึ้นจำนวน 47.8 ล้านบาท จากราคาของน้ำมันเฉลี่ยที่สูงขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกบริษัทมีกำไรขั้นต้น 45.56 ล้านบาท ลดลง 669.31 ล้านบาท หรือลดลง 93.63% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในการบริหารและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นประมาณ 34.2 ล้านบาทจากการเบิกเงินกู้ระยะยาวเพื่อลงทุนในโครงการแม่เมาะ 8 ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิ 96.22 ล้านบาท

"ผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เป็นไปตามที่คาดหมายที่บริษัทฯได้รับผลกระทบชั่วคราวจากเหตุดินนอกพื้นที่ทำงานของโครงการการยุบตัวลงมาทำความเสียหายต่อระบบสายพานของโครงการแม่เมาะ8 ทำให้บริษัทฯต้องใช้รถบรรทุกทำงานแทนระบบสายพานเป็นการชั่วคราว ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตและการรับรู้รายได้ได้น้อบกว่าการทำงานโดยระบบสายพานตามแผนที่วางไว้ ขณะเดียวกันการใช้รถบรรทุกมีต้นทุนในการดำเนินงานต่อหน่วยสูงกว่าการทำงานโดยระบบสายพาน"นายศาศวัต กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน บริษัทมีปริมาณงานที่เซ็นสัญญาแล้วคงเหลือประมาณ 34,853 ล้านบาท รองรับการรับรู้รายได้ไปอีกประมาณ 9 ปี ประกอบด้วย โครงการแม่เมาะ 8 มูลค่าประมาณ 19,814 ล้านบาท โครงการหงสา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมูลค่าประมาณ 10,463 ล้านบาท โครงการแม่เมาะ 7 มูลค่าประมาณ 905 ล้านบาท และโครงการเหมืองแร่ดีบุกเมืองเฮนดา สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า มูลค่าประมาณ 3,672 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ