(เพิ่มเติม) "ทวิช"นำ ผถห.IFEC ร้อง ก.ล.ต.ช่วยจัดประชุมเลือกบอร์ดใหม่หลังถูกขวาง ลั่นต้องมีภายใน 3 เดือน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 14, 2018 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวิช เตชะนาวากุล ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) นำคณะผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผ่านนายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุน ก.ล.ต.ในช่วงเช้าวันนี้ เพื่อขอหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ เนื่องจากคณะกรรมการชุดปัจจุบันมีพฤติกรรมขัดขวางการจัดประชุมดังกล่าว

นายทวิช ขอให้ ก.ล.ต.จัดให้มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นตามมาตรา 100 พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฯ และขอให้กล่าวโทษกับคณะกรรมการบริษัททั้ง 3 ประกอบด้วย พล.ต.บุญเลิศ แจ้งนพรัตน์, นายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ และนายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ เนื่องจากไม่ยอมรับเอกสารของนักลงทุนรายย่อยที่ได้เดินทางไปยังบริษัทเมื่อวันที่ 9 ส.ค.61 เพื่อขอใช้สิทธิตามมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฯ เพื่อขอให้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อคืนอำนาจในการเลือกกรรมการชุดใหม่ เข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับ IFEC

พร้อมกันนั้น ยังได้ยื่นข้อเรียกร้องสอบถามจาก ก.ล.ต.ถึงมาตรการของ ก.ล.ต.ที่จะสั่งการให้คณะกรรมการ IFEC ที่เหลือจัดประชุมผู้ถือหุ้นตามมาตรา 83 หลังจากผู้ถือหุ้นส่งเอกสารเรียกร้องไปยังกรรมการถึง 3 ครั้ง คือ วันที่ 20 มิ.ย.61,วันที่ 3 ก.ค.61 และวันที่ 26 ก.ค.พร้อมทั้งยื่นจัดประชุมตามมาตรา 100 ในวันที่ 9 ส.ค.61 และจะมีมาตรการดำเนินการอย่างไรกับกรรมการที่พยายามขัดขวางการประชุมหลายครั้ง เพื่อรักษาอำนาจไว้

นอกจากนั้น ยังได้สอบถามกับ ก.ล.ค.ว่า การที่ผู้ถือหุ้นยื่นขอจัดประชุม ตามมาตรา 100 หากคณะกรรมการบริษัทเปลี่ยนใจยอมจัดการประชุม จะต้องดำเนินการมาตราใด ระหว่างมาตรา 83 กับมาตรา 100 เพราะเงื่อนไขมีความต่างกัน

และ หากคณะกรรมการไม่ยอมจัดประชุมผู้ถือหุ้นภายใน 45 วัน คือภายใน 24 ก.ย.61 และ ผู้ถือหุ้นต้องจัดประชุมเองตามมาตรา 100 ตามความเข้าใจ มาตรา 89/26 พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ กำหนดให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดสิทธิผู้ถือหุ้นที่สามารถเข้าประชุม และวันประชุมผู้ถือหุ้น ดังนั้น หาก ผู้ถือหุ้นจะดำเนินการประชุมเอง ก.ล.ต.จะมีมาตรการช่วยให้ผู้ถือหุ้นสามารถดำเนินการได้อย่างไร

ผู้ถือหุ้นยังสอบถามถึงกรณีของประกาศ ก.ล.ค.ที่ทำให้นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ อดีตประธานกรรมการ IFEC ขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการใน IFEC แต่ไม่ครอบคลุมถึงบริษัทย่อย ซึ่งนายวิชัยยังดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทย่อยทุกแห่ง และมีการสั่งการหลายเรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ IFEC และบริษัทย่อย เช่น การนำทรัพย์สินของบริษัทย่อยไปจดจำนองเพื่อยอมความในศาล สำหรับหนี้หุ้นกู้ของ IFEC บางส่วน โดยให้ทนายเป็นผู้เรียกร้องและรับผลประโยชน์จากผู้ถือหุ้นกู้บางราย และคณะกรรมการ IFEC ก็ละเลยและไม่ดำเนินการคัดค้านหรือปลดนายวิชัยออกจากการเป็นกรรมการในบริษัทย่อย ก.ล.ต.จะมีมาตรการอย่างไร

นางสาวเยาวลักษณ์ ฤทธิ์สมจิตต์ ตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมากลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยได้เดินทางไปยังบริษัท IFEC เพื่อยื่นหนังสือกับกรรมการทั้ง 3 ขอใช้สิทธิตามมาตรา 100 แต่ปรากฏว่าทางบริษัทไม่ยอมรับเอกสาร สะท้อนให้เห็นว่า กรรมการบริษัทมีเจตนาที่ชัดเจนในการขัดขวางการจัดประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งเราได้มีการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีไว้เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น ผู้ถือหุ้นรายย่อยจึงเราคาดหวังว่าน่าจะให้รับคำตอบถึงแนวทางการแก้ปัญหาไอเฟคอย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม จาก ก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งหากไม่มีความคืบหน้าใดๆ กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยก็เตรียมที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษ เลขาธิการ ก.ล.ต. ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 เพราะนักลงทุนรายย่อยกว่าสามหมื่นรายได้รับความเดือดร้อนจากการไม่กล้าตัดสินใจเข้ามาแก้ปัญหาของ ก.ล.ต.

ด้านนายทวิช กล่าวภายหลังหารือกับร่วมกับ ก.ล.ต.ว่า ทาง ก.ล.ต.รับจะช่วยประสานงานกับทางกรรมการที่เหลือจำนวน 3 รายของ IFEC ให้ดำเนินการจัดการประชุมผู้ถือหุ้นตามมาตรา 83 ซึ่งมีระยะเวลาไม่เกิน 45 วันนับจากวันที่ได้มีการส่งหนังสือไปยังบริษัทฯ

ทั้งนี้ หากกรรมการ IFEC ไม่ตอบกลับมา หรือไม่จัดการประชุมผู้ถือหุ้นตามมาตรา 83 หรือ นิ่งเฉย หลังจากครบกำหนด 45 วันไปแล้ว กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยจะเป็นผู้จัดการประชุมตามมาตรา 100 คาดว่าจะใช้เวลาในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นไม่เกิน 40 วัน ซึ่งทั้งหมดนี้คาดจะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือนจะต้องมีการประชุมผู้ถือหุ้น IFEC เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

สำหรับการจัดประชุมผู้ถือหุ้นนั้น แม้ว่าตนเองจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยถือหุ้นในสัดส่วนราว 10% สามารถที่จะดำเนินการจัดประชุมผู้ถือหุ้นได้ แต่ต้องมีองค์ประชุมหรือคิดเป็นจำนวนหุ้นไม่น้อยกว่า 33% ของจำนวนหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมด จึงจะสามารถเปิดการประชุมเพื่อเลือกตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างทั้งหมด โดยจะมีการเสนอชื่อคณะกรรมการทั้งสิ้น 6 ราย

และหากกรณีที่กรรมการ IFEC ไม่จัดการประชุมผู้ถือหุ้นตามมาตรา 83 ตนเองและผู้ถือหุ้นรายย่อยได้เรียกร้องให้ ก.ล.ต.กล่าวโทษกรรมการทั้ง 3 ราย เหตุเพิกเฉยต่อการปฎิบัติหน้าที่ ทางก.ล.ต.ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

"เราได้มีการยื่นหนังสือตามที่มีการเอกสิทธิ์ไปแล้วจำนวน 3 ครั้งด้วยกัน ท่านก็ไม่มีทีท่าจะจัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยอ้างว่าไม่มีทุนทรัพย์ที่เพียงพอ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นทางกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยก็ยินดีที่จะช่วยกันลงขันให้ประมาณ 3-5 ล้านบาท เพื่อไม่ให้มีข้ออ้าง"นายทวิช กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ