กลุ่ม SAMART คาด H2/61 เห็นผลปรับทิศทางสู่ยุคดิจิทัลชัดเจน หลัง H1/61 ขาดทุน 169 ลบ.จาก FX Loss

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 15, 2018 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เปิดเผยว่า ถึงแม้ผลประกอบการของกลุ่ม SAMART จะยังไม่บรรลุเป้าหมายในครึ่งปีแรก เนื่องจากการปรับทิศทางธุรกิจของไอโมบายสู่ยุคดิจิทัล แต่ในครึ่งปีหลังจะเริ่มเห็นผลจากการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้นด้วยการทยอยรับรู้รายได้จากธุรกิจใหม่ๆ และปัจจัยหนุนจากการผลักดันนโยบาย 4.0 ของรัฐบาลที่จะสร้างโอกาสให้กับกลุ่มสามารถเข้าร่วมประมูลงานซึ่งมีมูลค่ารวมกว่าหมื่นล้านบาท และยังจะส่งเสริมให้ธุรกิจด้าน Digital Technology ของกลุ่มสามารถมีโอกาสในการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

สำหรับผลการดำเนินของกลุ่ม SAMART ในงวดครึ่งแรกของปี 61 มีรายได้ 5,444 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 169 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนทางบัญชี (FX Loss) สำหรับเงินกู้ในสกุลเงิน US Dollar ในไตรมาส 2/61

ส่วนไตรมาส 2/61 แต่ละสายธุรกิจของกลุ่ม SAMART สร้างผลงานเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะสายธุรกิจไอซีที นำโดย บมจ.สามารถเทลคอม (SAMTEL) เซ็นสัญญาโครงการใหม่มูลค่ารวมกว่า 3,226 ล้านบาท อาทิ โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศที่ดิน (ระยะที่ 2) ของกรมที่ดิน มูลค่า 2,768 ล้านบาท ส่งผลให้มีงานในมือแล้วประมาณ 8,246 ล้านบาท

ขณะที่ บมจ.วันทูวันคอนแทคส์ (OTO) มีรายได้รวม 180 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.2 ล้านบาท จากไตรมาส 1/61 โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าปัจจุบันขยายขอบเขตการให้บริการ ส่งผลให้มีงานในมือแล้วกว่า 770 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจด้านพลังงาน ล่าสุด บริษัท เทด้า จำกัด ซึ่งเชี่ยวชาญด้านงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าความแรงสูง ได้รับการว่าจ้างในโครงการเปลี่ยนระบบไฟฟ้าอากาศเป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน เส้นจรัญสนิทวงศ์ ให้แก่ กฟน. และโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าลำภูรา จ.ตรัง ของ กฟผ. รวมมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท ทั้งยังมีโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจอีกมาก

ด้านสายธุรกิจดิจิตอล หลังจากปรับเปลี่ยนธุรกิจครั้งใหญ่ ก็เริ่มเห็นความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้นในหลายธุรกิจ เพื่อโอกาสในการสร้างรายได้และการเติบโตในอนาคต ทั้ง Application "TripPointz" ที่ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง 12 จังหวัด ปัจจุบันมียอด DownLoad แล้วกว่า 50,000 ครั้ง

ส่วนอีก 2 ธุรกิจที่เริ่มดำเนินการแล้วและคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับสายธุรกิจดิจิตอลในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ ธุรกิจ Digital Trunk Radio System (DTRS) หรือ บริการวิทยุสื่อสารระบบดิจิตอล ภายใต้เครือข่าย DTRS ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ปัจจุบันมีการวางระบบและติดตั้งสถานีเครือข่ายไปแล้วกว่า 60% คาดว่าสิ้นปีนี้จะครอบคลุม 1,000 แห่งทั่วประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน คือ องค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมและบริการต่างๆ ที่ต้องการเครื่องมือสื่อสารแบบกลุ่มคุณภาพสูง เช่น การขนส่งและการเดินทาง (Logistic &Transportation) , โรงงานและนิคมอุตสาหกรรม, โรงพยาบาล, ศูนย์กู้ภัย เป็นต้น และโครงการติดตั้งเสาสัญญาณร่วม (Co-Tower) ในเขตอุทยานแห่งชาติกว่า 1,000 สถานี เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ใช้สัญญาณโทรศัพท์มือถืออย่างเต็มประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ