บอร์ด AOT ยืนยันจ่ายชดเชยด้านเสียงบ้านรอบสุวรรณภูมิที่สร้างก่อนปี 44

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 20, 2007 19:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กรรมการ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. เปิดเผยภายหลังการประชุมวันนี้ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ ทอท.จ่ายค่าชดเชยผลกระทบด้านเสียงให้แก่เจ้าของที่ดิน อาคาร และสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่สร้างก่อนวันที่ 31 ธ.ค.2544  โดยการจัดซื้อที่ดิน อาคาร และสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับผลกระทบให้เทียบเคียงกับแนวทางการกำหนดค่าทดแทนความเสียหายที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 
ส่วนอาคาร และสิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างหลังปี 2544 จนถึงวันที่ 28 ก.ย.2549 หรือวันเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น ทอท.จะให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม โดยจะพิจารณาจากมติครม.เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2550 และหลักการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผลกระทบจากการดำเนินการจริง เพื่อเป็นการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม
"ทอท.จำเป็นต้องทำตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้ชดเชยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างก่อนปี 2544 ส่วนสิ่งปลูกสร้างหลังปี 2544 นั้นเราไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะให้ค่าชดเชยได้ แต่จะให้ความช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป เช่น หากต้องการให้ปรับปรุงอาคารก็จะดำเนินการตามสมควร หรือหากต้องการขาย และเสนอราคาที่ต่ำ ขณะที่ทอท.สนใจก็จะรับซื้อ แต่การซื้อนี้ เราจะซื้อเพราะพอใจซื้อ ไม่ใช่การถูกบังคับให้ต้องซื้อ"นายเจิมศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้ ทอท.เร่งศึกษารูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมด้านเสียง(NOISE CHARGES)เพื่อลดผลกระทบด้านเสียง โดยให้ไปจัดทำรายละเอียดรูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและอัตราค่าธรรมเนียม มาเสนอคณะกรรมการภายใน 2-3 สัปดาห์ ซึ่งเบื้องต้นท่าอากาศยานทั่วโลกมีรูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมหลากหลาย
ดังนั้น ทอท.จึงต้องไปผสมผสานรูปแบบต่างๆ ให้มีความเหมาะสมและให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยยึดหลักว่าการจัดค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ได้สร้างรายได้เพิ่มให้กับ ทอท. โดย ทอท.ยังคงมีรายได้เท่าเดิม
ตัวอย่างการจัดเก็บค่าธรรมเนียมด้านเสียง เช่น 1.การสร้างแรงจูงใจให้สายการบินใช้เครื่องบินที่สร้างผลกระทบด้านเสียงต่ำโดยการปรับลดค่าธรรมเนียมด้านการบิน และจัดเก็บเพิ่มค่าธรรมเนียมด้านการบินสำหรับเครื่องบินที่สร้างผลกระทบด้านเสียงสูง 2.ระบบการให้โควตาเสียงกับสายการบินแต่ละแห่ง โดยจะมีการตัดคะแนนสำหรับสายการบินที่ใช้เครื่องบินที่มีระดับเสียงดัง 3.การกำหนดจำนวนเที่ยวบินในแต่ละช่วงเวลา 4.การกำหนดวิธีการบินลดเสียง
"การเก็บค่าธรรมเนียมสามารถเก็บได้ 2 วิธี คือ เก็บค่าธรรมเนียมกับเครื่องบินที่ก่อให้เกิดระดับเสียงดัง และการเก็บจากผู้โดยสาร ซึ่งทอท.จะต้องไปผสมผสานรูปแบบที่เหมาะสม โดยในเบื้องต้นรายได้ ทอท. จะต้องเท่าเดิม แต่ในอนาคต หากทอท.ต้องการนำเงินที่ได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมไปจ่ายชดเชยเรื่องผลกระทบด้านเสียงก็อาจจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มอัตราดังกล่าวได้"นายเจิมศักดิ์ กล่าว
นายเจิมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการดำเนินงานของโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้รายงานผลการสอบสวนเรื่อง การได้มาซึ่งสัญญาของบริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ในกิจกรรมเชิงพาณิชย์ แต่ที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณา เพราะยังไม่ได้ศึกษารายละเอียด
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายละเอียดผลการสอบสวนดังกล่าวแล้ว และเห็นต้องเสนอให้คณะกรรมการ ทอท. พิจารณาก็จะเสนอในการประชุมครั้งต่อไป คาดว่าจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 8 ม.ค.51

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ