ชงบอร์ด รฟม.อนุมัติส่วนต่อขยายสายสีชมพูเข้าเมืองทองฯ-โครงการ PPP สายสีส้มก่อนสิ้น ส.ค.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 27, 2018 13:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)เปิดเผยว่า จะนำเสนอให้คณะกรรมการ รฟม.พิจารณาและอนุมัติโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จากสถานีศรีรัชเข้าเมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม.ในวันที่ 31 ส.ค.นี้ หลังจากที่โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ต่อขยายเส้นทางไปตามถนนรัชดาภิเษกสิ้นสุดบริเวณแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม.ได้รับอนุมัติไปครั้งที่แล้ว ทั้งหมดโดยจะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)เพื่อบรรจุในแผนแม่บทการจราจร หลังจากนำเสนอเข้ากระทรวงคมนาคมเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะจะมีการเวนคืนที่ดิน ซึ่งภาครัฐจะเป็นผู้ดำเนินการ และเอกชนจะจ่ายชดเชยภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลางานก่อสร้างในส่วนต่อขยายอาจจะใช้เวลามากกว่าเส้นทางหลัก เพราะติดขั้นตอน EIA และการเวนคืนที่ดิน แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อเส้นทางหลักที่ รฟม.กำหนด คือ รถไฟฟ้าสายสีชมพูมีระยะทาง 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี และ รถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีระยะทาง 30.4 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี ทั้งสองโครงการจะเปิดให้บริการปลายปี 64 อนึ่ง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีกลุ่ม BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ว แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เป็นผู้ที่ได้รับสัมปทาน เดินรถ 30 ปี งานก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน

ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวย้ำว่า การเดินรถไม่ว่าจะเป็นบริษัทใดก็จะมีกรอบราคาค่าโดยสาร 14-42 บาท โดยจะมีค่าแรกเข้า 14 บาท แม้จะมีระยะทางเพิ่มขึ้นแต่จะไม่เพิ่มค่าโดยสาร

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่เดินรถในปัจจุบัน ช่วงหัวลำโพง-เตาปูน และส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-บางแค และ เตาปูน- ท่าพระ และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ทั้งสองเส้นทางเดินรถโดย บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)

นายภคพงศ์ กล่าวว่า นอกจากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการ รฟม.ในวันที่ 31 ส.ค.จะพิจารณาอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในรูปแบบลักษณะให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) แบบ Net Cost ให้ผู้ประกอบการรับความเสี่ยงไป โดยจะเป็นงานเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งเส้นทาง ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ระยะทางรวม 39.6 กม. และงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายส้มด้านตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม (ฝั่งตะวันตก) รวมมุลค่า 1.3-1.4 แสนล้านบาท หลังจากจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เพื่อกลั่นกรองก่อนเสนอให้ ครม.ให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ รฟม.จะออก TOR ทันในปีนี้

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (ม่วงใต้) ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการเวนคืนที่ดิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของทางราชการ และ รัฐวิสาหกิจ อยู่หลายจุด รวมทั้งสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ตามแนวถนนสามเสน ถนนเทเวศร์ โดยหากเป็นพื้นที่ราชการก็ต้องทำหนังสือขอใช้พื้นที่ แต่ถ้าเป็นของรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ต้องชำระเงินเป็นสิ่งตอบแทน หากแก้ปัญหาจุดนี้ได้จะออก TOR ได้ แต่คาดว่าจะไม่ทันในปี 61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ