(เพิ่มเติม) TSTH ปรับลดเป้าปริมาณขายในงวดปี 61 หลังครึ่งปีแรกดีมานด์ในปท.ต้นปีหด หันเน้นขายเหล็กเพิ่มมูลค่า

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 28, 2018 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทาทา สตีล (ประเทศไทย) (TSTH) ปรับลดเป้าหมายปริมาณขายในงวดปีนี้ (เม.ย.61-มี.ค.62) มาที่ 1.25-1.30 ล้านตัน จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 1.32-1.35 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศต่ำกว่าคาด โดยภาพรวมการใช้เหล็กในประเทศ (เหล็กเส้นทรงยาว) ครึ่งปีแรกติดลบ 5.4% มาที่ 2.6 ล้านตัน จากต้องการต้องการทั้งปีที่คาดไว้ราว 6 ล้านตัน แต่ก็คาดว่าในครึ่งปีหลังจะกลับมาเป็นบวกได้

ขณะที่บริษัทได้ผลักดันสินค้าส่วนหนึ่งส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย อินเดีย ลาว เป็นต้น

บริษัทคาดว่ายอดขายและปริมาณขายเหล็กในงวดไตรมาส 2/61 (ก.ค.-ก.ย.61) จะดีกว่าในงวดไตรมาส 1/61 (เม.ย.-มิ.ย.61) ที่มียอดขาย 5.4 พันล้านบาท และปริมาณขาย 2.8 แสนตัน แม้ว่ายังอยู่ในฤดูฝน แต่บริษัทมีกลยุทธ์การขายกระจายสินค้าไปยังร้าน Retail ,Modern trade แทนที่จะขายผ่านผู้รับเหมาหรือเจ้าของโครงการ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงการขายช่องทางเดียว รวมทั้งเพิ่มการขายสินค้าเหล็กมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ เหล็กเส้นขึ้นรูปตัดและดัด เหล็กต้านแผ่นดินไหว เหล็กเส้นแรงดึงสูง

ส่วนในงวดไตรมาส 3-4 หรือช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ (ต.ค.61-มี.ค.62) คาดว่าผลประกอบการน่าจะดีขึ้นกว่างวดครึ่งแรกของปีนี้ (เม.ย.-ก.ย.61) เพราะเป็นช่วงฤดูกาลการก่อสร้าง รวมทั้งภาครัฐได้ผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ออกมามากขึ้น ได้แก่ โครงการถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ โครงการรถไฟความเร็วสูง ,โครงการขยายสนามบิน เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทจะหันมาเพิ่มการขายเหล็กเพิ่มมูลค่า โดยงวดปีนี้ตั้งเป้าปริมาณขาย จำนวน 2.2 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 1.7 แสนตัน

ทั้งนี้ เหล็กเพิ่มมูลค่าของ TSTH ได้แก่ เหล็กข้ออ้อยแรงดึงสูง SD50, เหล็กเส้นเหนียวพิเศษต้านแผ่นดินไหว และเหล็กเส้นตัดและดัดสำเร็จรูป (Cut & Bend) โดยบริษัทได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 1.3 แสนตัน/เดือน

นายราจีฟ กล่าวว่า ในไตรมาสแรกนี้ (เม.ย.-มิ.ย.) บริษัทเพิ่งส่งออกไปตลาดเมียนมาเป็นครั้งแรก จำนวน 3 พันตัน ไตรมาส 2/61 คาดส่งออก 1.2-1.5 พันตัน และเห็นว่าแนวโน้มตลาดเมียนมามีโอกาสเติบโต เพราะรัฐบาลเริ่มลงทุนโครงการสาธารณูปโภค ขณะที่ไม่มีโรงงานเหล็กหรือไม่มีกำลังการผลิตในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเมียนมาพึ่งพิงเหล็กจากจีน แต่หลังจากจีนลดกำลังการผลิตก็ทำให้ส่งออกน้อยลง ทั้งนี้ บริษัทแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในเมียนมา เน้นขายสินค้ามีคุณภาพในแบรนด์ทาทาทิสคอน

"เมียนมามีการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งเขายังไม่มีโรงเหล็ก เขาต้องนำเข้า ซึ่งแต่ก่อนนำเข้าจากจีน แต่จีนลดการส่งออก ก็เป็นช่องทางของไทยที่ผลักดันการส่งออกไปเมียนมา...ตอนนี้เรายังไม่มีแผนลงทุนโรงงานผลิตเหล็ก"นายราจีฟ กล่าว

ทั้งนี้ มองภาพรวมตลาดเหล็กแนวโน้มในอนาคต เห็นว่าความต้องการในประเทศจีนยังคงแข็งแกร่ง สินค้าคงคลังมีปริมาณต่ำ และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นมากขึ้นคาดว่าจะส่งผลต่อการควบคุมการส่งออก, ราคาเศษเหล็กต่างประเทศยังคงสูง ทำให้ราคาเศษเหล็ก และเหล็กลวดเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นประมาณ 7-8% หรือเพิ่มขึ้น 600-800 บาท/ตัน ในไตรมาส 1/61 แต่บริษัทก็สามารถผลักภาระด้วยการปรับขึ้นราคาได้ ขณะที่การส่งออกเหล็กลวดจากประเทศเวียดนามเข้ามาแทนที่การส่งออกจากจีนที่ลดลง ซึ่งนำเข้ามา 7-8 เดือน ปริมาณ 5 พันตัน/เดือน

สำหรับบริษัทมีสัดส่วนยอดขายส่วนใหญ่เป็นเหล็กเส้น 60-65% ซึ่งในส่วนนี้รวมยอดขายเหล็กเพิ่มมูลค่าที่มีสัดส่วน 10-13% ด้วย ส่วนเหล็กลวด 30% ส่วนที่เหลือ 5% เป็นเหล็กฉาบ เหล็กรางน้ำ ขณะที่ปัจจุบันบริษัทใช้อัตรากำลังการผลิตราว 70% ซึ่งใกล้เคียงปีก่อน

นายราจีฟ กล่าวว่า ด้านงบลงทุน (Capex )ในปีนี้ตั้งไว้ที่ระดับ 400 ล้านบาท แบ่งเป็น ใช้ปรับปรุงเทคโนโลยีประสิทธิภาพการผลิต 25 ล้านบาท, งบปรับปรุงเครื่องจักร 195 ล้านบาท และลงทุนโซลาร์บนหลังคาโรงงาน 180 ล้านบาทใน 3 โรงงาน ซึ่งทำแล้ว 1 โรงงานที่จ.ระยอง (SCSC) ส่วนที่เหลืออีก 2 โรงงานที่สระบุรี (SISCO) และชลบุรี (NTS) อยู่ระหว่างคัดเลือกผู้ประกอบการ โดยการลงทุนนี้คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนพลังงานได้ 20%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ