(เพิ่มเติม) DTAC หวัง กสทช.ออกมาตรการเยียวยาคลื่น 850 MHz ก่อนหมดสัมปทาน 15 ก.ย.นี้,ยืนยันลูกค้าจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 28, 2018 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับลูกค้า โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานเพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่เน้นย้ำ คือ บริษัทต้องได้รับอนุมัติแผนความคุ้มครองลูกค้าในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อลูกค้าดีแทคได้ใช้คลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ซึ่งเป็นช่วงคลื่นเดิมของดีแทคที่หมดสัมปทานและไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน โดยลูกค้าดีแทคควรได้สิทธิ์ใช้งานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้รับการคุ้มครองตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน

ประเด็นสอง คือลูกค้าดีแทคอาจได้รับผลกระทบบ้างช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งบริษัทจะพยายามทำให้ดีที่สุด ช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญที่จะตรงไปตรงมากับลูกค้าให้มากที่สุด ถึงแม้จะเป็นช่วงที่ท้าทายแต่ก็จะมองไปสู่การปรับเปลี่ยนองค์กรที่มุ่งสู่การให้ความสำคัญกับลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น ดีแทคจะขยายโครงข่ายการบริการทั้งคลื่น 2100 MHz และบริการบนคลื่น 2300 MHz ของทีโอที เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

นางไรซ์ กล่าวว่า ล่าสุด บริษัทได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ถึง กสทช.เพื่อขอให้มีการออกมาตรการเยียวยาคลื่น 850 MHz ก่อนสิ้นสุดสัปทานวันที่ 15 ก.ย.61 เพื่อให้ลูกค้าของดีแทคสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

ดีแทค ยืนยันว่า ควรได้รับการเยียวยา เนื่องจากคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่เป็นคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz แต่การจัดการประมูลเป็นการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งเป็นคนละคลื่นความถี่กัน ประกอบกับ ที่ผ่านมามีความไม่แน่นอนในการจะนำคลื่นความถี่ใดออกประมูลหรือไม่ออกประมูลมาโดยตลอด บริษัทจึงไม่ทราบแน่ชัดว่าจะมีการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกประมูลหรือไม่อย่างไร

และ แม้บริษัทจะเข้าร่วมและชนะการประมูลดังกล่าว บริษัทฯ อาจต้องใช่เวลาประมาณอย่างน้อย 2 ปี เพื่อเตรียมการสำหรับให้บริการบนคลื่นความถี่ใหม่ ดังนั้น ผู้ใช้บริการเครือข่ายของบริษัทฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความคุ้มครองตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ในระหว่างที่บริษัทฯยังไม่พร้อมเริ่มให้บริการเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ การจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ยังมีการกำหนดเงื่อนไขไว้อีกว่า ให้ผู้ที่ชนะการประมูลต้องรับผิดชอบแก้ไขปัญหาคลื่นรบกวนทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว พร้อมทั้งติดตั้งระบบป้องกันการรบกวนสัญญาณทั้งหมด ประกอบกับทาง กสทช. ยังได้มีการสงวนสิทธิในการปรับเปลี่ยนช่วงคลื่นความถี่ในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลมีความจำเป็น ซึ่งบริษัทฯมองว่าเงื่อนไขต่างๆข้างต้นทำให้เกิดต้นทุนที่สูงและไม่สามารถประเมินงบประมาณที่จะต้องใช้ได้

อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนอีกว่า ถ้าหากมีการปรับเปลี่ยนช่วงคลื่นความถี่อาจจะส่งผลให้บริษัทฯที่ชนะการประมูลต้องมีการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด จากความเสี่ยงดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลให้บริษัทฯ และผู้ประกอบการรายอื่นๆ ไม่ได้มีการเข้าร่วมการประมูลคลื่น 900 MHz เช่นกัน

ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงาน กสทช.เพื่อขอความชัดเจนในส่วนของคลื่น 1800 MHz ที่เหลืออีก 15 MHz ว่าจะทำอย่างไรต่อไปในช่วงของการเปลี่ยนผ่านโครงข่าย โดยปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าอยู่บนคลื่นความถี่ 850 MHz และ 900 MHz รวม 4 แสนราย โดยยืนยันว่าจะให้ลูกค้าได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านโครงข่ายน้อยที่สุด

"สิ่งสำคัญ คือการเยียวยาคลื่นความถี่ 850 MHz เนื่องจากการประมูลไม่ได้เกิดขึ้น โดยกสทช. จะมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz รอบใหม่ ถ้าเกิดว่า 850 ไม่ได้รับการเยียวยา ลูกค้าได้รับผลกระทบ ประสบภาวะซิมดับ การตัดสินในเข้าร่วมประมูลก็อาจเป็นไปได้ยาก ส่วนคลื่น 1800 MHz เราได้เข้าร่วมประมูล ทำให้เราเข้าสู่การเยียวยาโดยอัตโนมัติ แต่เราต้องการขอความชัดเจน ว่าจะทำอย่างไรกับคลื่นที่เหลืออยู่ 15 MHz"

อย่างไรก็ตาม หากดีแทคได้รับการเยียวยาในคลื่น 850 MHz ดีแทคจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่หรือไม่นั้น บริษัทฯ ก็ต้องมีการพิจารณาถึงกฎเกณฑ์การประมูลต่างๆของทาง กสทช. ก่อน รวมถึงการเปลี่ยนผ่านโครงข่ายไปสู่ 900 MHz ด้วย

CEO ใหม่ ดีแทค กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านโครงข่าย และการเข้ารับตำแหน่ง CEO จะมุ่งเน้นใน 3 เรื่อง คือ การคุ้มครองผู้ใช้บริการในการโอนย้ายโครงข่ายไปยังคลื่นความถี่ใหม่ โดยจะต้องรับผิดชอบร่วมกันกับสำนักงาน กสทช. เพื่อสามารถให้บริการลูกค้าในพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับการติดต่อสื่อสารอย่างต่อเนื่อง และต้องมีการตรงไปตรงมากับลูกค้าในการสื่อสารในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เนื่องจากลูกค้าอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการทำงานภายในองค์กรในระยะยาว โดยจะมุ่งเน้นการให้บริการ การให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลัก

"ลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เราก็จะมองถึงความต้องการของลูกค้า และตอบสนองความต้องการของลูกค้า เชื่อว่าดีแทคมีศักยภาพ จากมีลูกค้าและพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลลูกค้า ซึ่งจากการที่ดีแทคสูญเสียรายได้ และมาร์เก็ตแชร์ เราก็จะเข้ามาปรับเปลี่ยนเทรนดังกล่าวให้ได้ แต่ก็ขอเวลาอีกสักระยะหนึ่ง"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ