GBS มองหุ้นไทยสัปดาห์นี้ผันผวนในกรอบ 1,665-1,710 จุด ขานรับคลังยื่นไฟลิ่งตั้ง TFF แต่ยังถูกกดันจากสงครามการค้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 11, 2018 14:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.โกลเบล็ก (GBS) มองหุ้นไทยสัปดาห์นี้ได้อานิสงส์กระทรวงการคลังยื่นไฟลิ่งตั้งกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) กองทุนโครงสร้างพื้นฐานกองแรกของประเทศ วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยังมีปัจจัยกดดันจากสงครามการค้าโลกมีแนวโน้มยืดเยื้อและขยายวงกว้าง รวมถึงการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศที่เป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่หลายประเทศ ทำให้ fund flow ไหลออกจากตลาดหุ้นเกิดใหม่เพื่อลดความเสี่ยง โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวบริเวณ 1,665-1,710 จุด

น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ของ GBS กล่าวว่า ตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ได้รับปัจจัยบวกจากกระทรวงการคลังยื่นไฟลิ่งตั้งกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานกองแรกของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเปิดขายราวสัปดาห์ที่สองของเดือน ต.ค. และจะเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้นเดือนพ.ย.นี้ หนุนแหล่งเงินทุนสำหรับเมกะโปรเจกต์ที่ทยอยเปิดประมูล ส่วนโครงการ TFF เฟส 2 คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วๆ นี้

รวมถึงญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/61 ขยายตัว 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าประมาณการเบื้องต้นที่ 1.9% โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งหนุนภาพรวมเศรษฐกิจโลกขยายตัว

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังคงมีปัจจัยกดดันจากสงครามการค้าโลกมีแนวโน้มยืดเยื้อและขยายวงกว้าง การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้าทั้งแคนาดาและจีนยังไม่ได้ข้อสรุป ขณะที่เป้าหมายต่อไปคือ ญี่ปุ่น หลังสหรัฐขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาดีทั้งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และค่าจ้างรายชั่วโมงที่พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 9 ปี ทำให้คาดว่าที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศที่เป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่หลายประเทศ อาทิ ตุรกี อินโดนีเซีย อินเดีย ทำให้ fund flow ไหลออกจากตลาดหุ้นเกิดใหม่เพื่อลดความเสี่ยง นับเป็นปัจจัยหลักกดดันต่อภาวะตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ยังคงมีปัจจัยที่น่าจับตา ได้แก่ จับตาการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-แคนาดา และ สหรัฐฯ-จีน วันที่ 12 ก.ย. สหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค. สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) จากเฟด ช่วงเช้าวันที่ 13 ก.ย. และวันที่ 13 ก.ย. ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ในวันที่ 19 ก.ย. จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมทบทวนตัวเลข GDP และในวันที่ 14 ก.ย. สหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยดุลการค้าเดือนก.ค. สหรัฐ เปิดเผยราคานำเข้าและส่งออก ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนก.ย.

ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ของ GBS กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มผันผวนในกรอบ 1,665-1,710 จุด แนะลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จาก Apple เปิดตัว iPhone รุ่นใหม่ 12 ก.ย. ได้แก่ COM7 และ SPVI และหุ้นกลุ่มธนาคาร กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง แนะนำ KKP, CENTEL, ERW, AOT, CK และ SSP

ด้านแนวทางการลงทุนในทองคำนั้น มองว่าสกุลเงินดอลลาร์มีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อเนื่องจนถึงสัปดาห์หน้าก่อนที่จะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐในวันที่ 26 ก.ย. เนื่องจากดัชนีบางตัวได้บ่งชี้ถึงโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐฯจะขยายตัวเร็วขึ้น ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งสิ้น 4 ครั้งในปีนี้ ซึ่งต้องจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟด และความเห็นของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ว่าจะยืนยันการปรับขึ้นครั้งที่ 4 หรือไม่

นอกจากนี้ แรงกดดันต่อนานาประเทศผ่านการทำสงครามการค้าของสหรัฐฯ ยังส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จึงเป็นปัจจัยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างน้อยก็ในระยะสั้น ดังนั้น ราคาทองคำจึงถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ไปจนถึงปลายเดือนนี้ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองทางเทคนิคที่ราคาไม่สามารถกลับไปยืนเหนือ 1,200 ดอลลาร์/ออนซ์ได้ ทำให้ในระยะสั้นมีแนวโน้มจะแกว่ง sideway down

อย่างไรก็ตาม ทองคำยังอยู่ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย และเงินบาทที่อ่อนจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ จะช่วยให้สามารถเล่นเก็งกำไรแบบ swing trade หรือ ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวใกล้ระดับ 1,180 ดอลลาร์/ออนซ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ