สคร.นัดแถลงเปิดตัว Thailand Future Fund พรุ่งนี้เพื่อเตรียมระดมทุนจากประชาชน-นักลงทุนทั่วไป

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 12, 2018 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร.กำหนดจัดแถลงข่าวในวันพรุ่งนี้เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFFIF) ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยการระดมทุนจากประชาชนผ่านกลไกของตลาดทุน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสามารถนำเงินมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องรอเงินงบประมาณของประเทศหรือเงินสะสมจากรายได้ของแต่ละหน่วยงาน

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สคร.ระบุว่ากองทุนดังกล่าวจะเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนและนักลงทุนทั่วไปครั้งแรกราว 4.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ สคร.ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลหนังสือชี้ชวนเพื่อเสนอขายหน่วยลงทุนของ TFFIF ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยระบุว่า TFFIF เป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งบริษัทจัดการกองทุนได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต.ให้จัดตั้งและบริหารกองทุนฯ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.59 และกองทุนฯจัดตั้งและจดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 พ.ย.59 ด้วยทุนเริ่มแรกจำนวน 1,000 ล้านบาทที่ได้รับจากกระทรวงการคลัง

กองทุนฯ บริหารจัดการร่วมโดย บลจ.กรุงไทย และ บลจ.เอ็มเอฟซี และ ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนฯคือ ธนาคารกสิกรไทยและมี บล.ภัทร, บล.ฟินันซ่า และ ธนาคารกรุงไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการเสนอขายส่วนเพิ่มทุน

ปัจจุบันกองทุนฯ อยู่ในระหว่างการยื่นคำขออนุญาตในการออกเสนอขายหน่วยลงทุนแก่ประชาชนและผู้ลงทุนทั่วไปต่อ ก.ล.ต.และจะดำเนินการต่อไปเพื่อขอเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการระดมเงินลงทุนครั้งนี้ และทุนเริ่มแรกไปลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน

กองทุนฯ จะลงทุนเริ่มแรกในสัญญาโอนและรับโอนสิทธิในรายได้ เพื่อรับโอนรายได้ค่าผ่านทางบางส่วนของทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกองทุนฯ อาจดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อก่อให้เกิดรายได้และผลตอบแทนแก่กองทุนฯ และผู้ถือหน่วยลงทุนภายใต้ขอบเขตที่สามารถกระทำได้ตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต.และกฎข้อบังคับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจรวมถึงการลงทุนในกองทุนรวมอื่น หลักทรัพย์อื่น และ/หรือการหาดอกผลอื่นใดภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ และหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามแผนการลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานเริ่มแรก กองทุนฯ คาดว่าจะนำเงินทุนที่ได้รับจากการเสนอขายหน่วยลงทุนแก่ประชาชนทัวไปและเงินทุนเริ่มแรกที่ได้รับจากกระทรวงการคลังจ่ายชำระค่าตอบแทนในการเข้าทำสัญญาโอนและรับโอนสิทธิในรายได้กับ กทพ. เพื่อรับโอนรายได้จำนวนร้อยละ 45 ของค่าผ่านทางที่เรียกเก็บได้จริงจากผู้ใช้ทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี หลังหักด้วยจำนวนเท่ากับภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ10 ของค่าผ่านทางเป็นระยะเวลา 30 ปีนับตั้งแต่วันที่สัญญามีผลบังคับใช้

ทางพิเศษที่กองทุนเข้าลงทุนในรายได้ครั้งแรกจำนวน 2 สายทางครอบคลุมระยะทางรวมทั้งสิ้น 83.2 กิโลเมตร ประกอบด้วย (ก) ทางพิเศษฉลองรัช ระยะทาง 28.2 กิโลเมตร เชื่อมต่อถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออกบริเวณจตุโชติ เข้ากับทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณอาจณรงค์และทางพิเศษบางนา-อาจณรงค์ และ (ข) ทางพิเศษบูรพาวิถี ระยะทาง 55.0 กิโลเมตร ซึ่งเป็นหนึ่งในทางยกระดับที่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางที่มีระยะทางยาวที่สุดในประเทศไทยและมีจุดเริ่มต้นจากปลายทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณบางนาไปทางทิศตะวันออกข้ามแม่น้ำบางปะกง สิ้นสุดที่จังหวัดชลบุรี

ทางพิเศษที่กองทุนเข้าลงทุนในรายได้ครั้งแรกมีปริมาณการจราจรโดยเฉลี่ย 369,464 คันต่อวัน สำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.60 และ 386,557 คันต่อวันสำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.61 รายได้ค่าผ่านทางจากทางพิเศษที่กองทุนเข้าลงทุน ในรายได้ครั้งแรก คิดเป็น 4,672.3 ล้านบาทสำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.60 และ 3,592.9 ล้านบาทสำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ