(เพิ่มเติม) BM คาดเซ็น MOU พันธมิตรร่วมสร้างรง.ในเมียนมาปีนี้, รับงานเสาสื่อสาร DTAC หนุนรายได้โตตามเป้า 10-20%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 13, 2018 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธานิน สัจจะบริบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บางกอกชีทเม็ททัล (BM) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะได้ข้อสรุปการลงนามในร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) กับพันธมิตรเมียนภายในปีนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับพันธมิตรเนื่องจากบริษัทต้องการก่อสร้างโรงงานผลิตท่อสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งบริษัทเชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายและส่งผลให้บริษัทมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

ตามขั้นตอนเบื้องต้น บริษัทคาดว่าจะสามารถจัดตั้งบริษัท โฮลดิ้ง ได้ภายในปีนี้ โดยบริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วนราว 35% ส่วนที่เหลืออีก 15% จะเป็นพันธมิตรจากประเทศไทย 3-4 ราย และสัดส่วนอีก 50% จะเป็นการถือหุ้นโดยพันธมิตรในประเทศเมียนมา 2 ราย

สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทมั่นใจว่ารายได้จะเติบโต 10-20% จากระดับ 846 ล้านบาทในปีที่แล้ว จากแนวโน้มผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลังที่จะเติบโตจากช่วงครึ่งปีแรกที่มีรายได้ 453.58 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 18.41 ล้านบาท เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามาต่อเนื่อง

ล่าสุด บริษัทได้รับงานเสาสื่อสารจากบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีคำสั่งซื้อในมือแล้วกว่า 1,000 ต้น และปีนี้จะสามารถส่งมอบเสาสื่อสารให้กับ DTAC ราว 50% ของงานทั้งหมด

ส่วนการที่ DTAC ไม่ได้รับการเยียวยาการใช้คลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ที่จะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย.นั้น เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการส่งมอบเสาสื่อสาร แต่อย่างไรก็ตาม การส่งมอบอาจจะมีชะลอไปบ้าง ซึ่งก็จะเป็นผลดีให้บริษัทสามารถใช้กำลังการผลิตบางส่วนไปรับงานอื่น ๆ ได้เพิ่มเติม

นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับคำสั่งซื้อในธุรกิจกล่มอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย โดยในปัจจุบันบริษัทมียอดขายที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) ประมาณ 500 ล้านบาท คาดจะรับรู้รายได้เกือบทั้งหมดในปีนี้ ขณะเดียวกันก็จะเจรจาเข้ารับคำสั่งซื้อใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่า ณ สิ้นปี 61 จะมี Backlog อยู่ที่ระดับ 1,000 ล้านบาท

นายธานิน กล่าวว่า ส่วนปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างประเทศจีน และสหรัฐฯนั้น บริษัทมองว่าเป็นผลดีกับผู้ประกอบการในประเทศไทย และในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลาย ๆ รายให้ความสนใจที่จะย้ายฐานผลิต และย้ายคำสั่งซื้อมาที่บริษัทมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศเวียดนาม เนื่องจากต้นทุนการผลิตของเวียดนามต่ำกว่าประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงเน้นการผลิตที่มีคุณภาพ และหลากหลายเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

สำหรับความคืบหน้าการร่วมทุนกับพันธมิตรญี่ปุ่น NITTO KOGYO ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบโรงงานใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 62 และการร่วมทุนดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีสินค้าเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก


แท็ก บางกอก   เหล็ก   DTAC  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ