ก.ล.ต.คาดเอกชนเร่งออกหุ้นกู้รับแนวโน้มดบ.พลิกเป็นขาขึ้น ,บจ.ในอาเซียน 2 รายเล็งเข้าตลาดหุ้นไทยต้นปี 62

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 13, 2018 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในเกณฑ์ขาขึ้น น่าจะส่งผลทำให้บริษัทเอกชนจะเร่งออกหุ้นกู้มากขึ้น และคงเป็นลักษณะการออกหุ้นกู้ระยะยาว จากเดิมเฉลี่ยอายุ 3 ปี ทั้งนี้ เพื่อควบคุมต้นทุนทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ ก.ล.ต.ได้มีการประกาศใช้เกณฑ์ตราสารหนี้ในช่วงไตรมาส 2/61 เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นในหลายด้าน ทั้งการจำกัดไม่ให้ใช้ตั๋วเงินเป็นตราสารที่ใช้ระดมทุนในวงกว้าง การแยกการกำกับดูแลการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ออกจากการเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน การเพิ่มมาตรฐานการทำหน้าที่ของตัวกลาง และให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนรายใหญ่มากขึ้น พบว่าตลาดตราสารหนี้มีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดี โดยมีการออกตราสารหนี้ที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น

จากมาตรการดังกล่าวทำให้การออกตราสารหนี้ที่ไม่มีเรทติ้ง (Non-Investment grade และ Unrate) ณ สิ้นไตรมาส 2/61 ลดลงกว่า 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะการออกตั๋วแลกเงิน (B/E) จากสิ้นปีก่อนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 10.4% เหลือ 6.6% ของยอดคงค้างตราสารหนี้ทั้งระบบ

ชณะที่การออกตราสารหนี้เสนอขายแก่ผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจงไม่เกิน 10 ราย ซึ่งเดิมมักถูกใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ก็มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน จะเห็นได้จากไตรมาส 2/61 ปรับตัวลดลงมาที่ 11.0% จากปีก่อนอยู่ที่ 11.1% และลดลงเมื่อเทียบกับปี 59 ที่อยู่ที่ 13.1% ด้านธุรกิจกองทุนรวม พบว่ากองทุนรวมมีการลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนที่ไม่ใช่รายย่อยมีจำนวนลดลง โดยในไตรมาส 2/61 มีสัดส่วนลดลงมาที่ 18,713 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 22,165 ล้านบาท และจากปี 59 อยู่ที่ 103,568 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ยังไม่พบการผิดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ โดยปัจจุบันมีผู้ผิดชำระหนี้คงค้างในระบบ 11 บริษัท มูลค่ารวม 16,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.4% ของมูลค่าตราสารหนี้ทั้งระบบ ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เสนอขายให้กับนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) และ กลุ่มนักลงทุน High Net Worth

นายรพี กล่าวว่า สำหรับการเปิดให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อื่นสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยได้นั้น ขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียนในอาเซียนจำนวน 2 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีบริษัทจดทะเบียนในประเทศกัมพูชา เตรียมขอเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดอาจจะเห็นรายแรกในปี 62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ