MFEC รับรายได้-กำไรปีนี้ถดถอยในช่วงปีแห่งการลงทุน-จับมือกลุ่ม JMART รุกระบบ Payment Gateway หวังดันเข้า mai

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 26, 2018 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอ็ม เอฟ อี ซี (MFEC) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 61 ทั้งในส่วนรายได้และกำไรสุทธิจะถดถอย เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 3.02 พันล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 153.99 ล้านบาท ขณะที่ครึ่งปีแรกมีรายได้อยู่ที่ 1.59 พันล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 19.95 ล้านบาท เนื่องด้วยปีนี้เป็นปีแห่งการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อเตรียมความพร้อม และรองรับการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชน ในด้านของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในปี 62 หลังจากที่การเลือกตั้งมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ในปีหน้าจะได้รับอานิสงส์จากการลงทุนของภาคเอกชนอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้บริษัทยังคงมองหาการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่มีความคิดใหม่ ๆ ที่จะสร้างการเติบโตและมีการ Synergy ร่วมกันได้ จากปัจจุบันบริษัทมีธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งสิ้นจำนวน 8 บริษัท ซึ่งรวมถึงบริษัท พระอินทร์ ฟินเทค จำกัด (พระอินทร์ฯ) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาและให้บริการระบบช่องทางการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Payment Gateway) โดยล่าสุดบริษัทจะขายหุ้นบางส่วนให้กับบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ของบมจ.เจ มาร์ท (JMART) ซึ่งคาดจะบันทึกกำไรพิเศษเข้ามากว่า 10 ล้านบาท ในไตรมาส 4/61 โดย JVC จะเข้าซื้อหุ้นพระอินทร์ฯ จาก MFEC และนายธนกร ชาลี เพื่อเข้าถือหุ้นในพระอินทร์ฯจำนวนรวม 18.92%

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวนับเป็นการ Synergy ระหว่างบริษัทย่อย และ JVC ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายตอบโจทย์ทั้ง MFEC จากการได้พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งของกลุ่มเจมาร์ท ต่อยอดการเป็น Payment Gateway ของสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบภายใต้เครื่องหมายทางการค้า "ChillPay" และกลุ่มเจมาร์ท จะได้ธุรกิจเพิ่มจากลูกค้าของ ChillPay ซึ่งมีฐานลูกค้าที่เซ็นสัญญากับ MFEC แล้วกว่า 10 ราย จำนวนนี้บางรายมาเป็นกลุ่มบริษัท ดังนั้น รวมแล้วมีลูกค้าในมือกว่า 100 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โดยลูกค้ากลุ่มดังกล่าวนี้ต่อไปสามารถใช้วงเงินผ่านธุรกิจสินเชื่อของกลุ่มเจมาร์ท "J-money" ได้

ขณะเดียวกันยังเป็นการตอบโจทย์ระบบชำระเงิน ที่เริ่มมีผลกระทบเชิงบวกจากการที่ธนาคารพาณิชย์ฟรีค่าธรรมเนียมการโอน โดยบางรายใช้ผ่านแอพพลิเคชันของธนาคาร ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแลกกับการยอมเสียเวลา เทียบกับที่ชำระเงินตัดผ่าน ChillPay ที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่รวดเร็วกว่าเพราะเป็นการจ่ายโดยตรง ในแง่มุมของธุรกิจบริษัทจึงต้องปรับตัว

"'MFEC จะได้ประโยชน์จากทั้งกลุ่มเจมาร์ท ที่จะต่อยอดเป็นลูกค้าของ ChillPay ในทางกลับกัน กลุ่มเจมาร์ท ได้ธุรกิจส่วนเพิ่มจากลูกค้า ChillPay ที่จะมาใช้วงเงินผ่าน J-money ได้ ลูกค้าเราส่วนใหญ่เป็น อี-คอมเมิร์ซ เป็นลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ต้องการความสะดวกและรวดเร็วซึ่ง Chillpay ตอบโจทย์ได้ดีกว่า ประกอบกับเทรนด์ของอี-คอมเมิร์ซ และสังคมไร้เงินสด (Cashless) มาแรง ทั้งนี้ธุรกรรมผ่าน ChillPay แต่ละปีเติบโตหลายเท่าตัว ปี 59 มีวงเงินธุรกรรมผ่านประมาณ 100 ล้านบาท เพิ่มเป็น 3 เท่าตัวเป็น 300 ล้านบาทในปี 60 และปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายเติบโตเป็น 2 เท่าตัว หรือประมาณ 600 ล้านบาท" นายศิริวัฒน์ กล่าว

นายศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับบริษัท พระอินทร์ ฟินเทค จำกัด ในปี 61 คาดว่าจะเติบโตถึง 2 เท่าตัว จากปีก่อน โดยในช่วงครึ่งปีแรก ยอดโอนเงินผ่านระบบมีเติบโตเท่ากับยอดทั้งปีของปี 60 แต่ในแง่ของกำไรอาจไม่ได้โตเหมือนรายได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ และในอนาคตของพระอินทร์ ฟินเทค มี 2 แนวทางที่ MFEC วางไว้ คือ การผลักดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ส่วนอีกแนวทางคือ การขายหุ้นให้นักลงทุนที่มี Synergy กันได้ในอนาคต

ด้านนายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ JVC กล่าวว่า การเข้าลงทุนในพระอินทร์ ฟินเทค มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา Payment Gateway Solution ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ JFIN Decentralized Digital Lending Platform (JFIN DDLP) ของบริษัท และเป็นแผนการดำเนินงานภายใต้ White Paper ของโครงการ J Fin Coin ที่จะนำเงินระดมทุนเข้ามาพัฒนาระบบดังกล่าว โดยบริษัทเตรียมเปิดตัว Digital Lending Platform (DLP) ภายใต้แบรนด์ "ป๋า" คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในเดือนต.ค.61 และอยู่ระหว่างพัฒนาต่อเนื่องเป็น Decentralized Digital Lending Platform (DDLP) ที่นำเอาเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้ โดยตั้งเป้าแล้วเสร็จในเดือนต.ค.62 ตามแผนเดิมที่วางไว้

"เรามองว่า สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society เป็นเรื่องอนาคตที่มาเร็วกว่าที่เราคาดหวังไว้ ขณะที่ช่องทางการชำระเงินหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้มีแต่บัตรเครดิตอย่างเดียว ทางพระอินทร์ ฟินเทค ก็ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อเป็นผู้นำทางด้าน Payment Gateway Solution และเข้ามาเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการต่อยอดระบบ JFIN DDLP ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางที่ทางกลุ่มเจมาร์ทดำเนินอยู่ และมีแผนต่อยอดช่องทางการชำระเงินของตัวเองให้กลุ่มบริษัทในอนาคต" นายธนวัฒน์ กล่าว

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า บริษัทยังมองการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต หากการร่วมมือในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ บริษัทก็มีแผนที่จะเข้าซื้อหุ้นบริษัท พระอินทร์ ฟินเทค จำกัด เพิ่มเติม จากปัจจุบันถือหุ้นในสัดส่วน 18.92% อีกทั้งนอกจากการลงทุนในพระอินทร์ ฟินเทค แล้ว บริษัทก็อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพเพิ่มเติมอีก จำนวน 10 ราย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้อย่างน้อย 1 ราย โดยวางงบการลงทุนไว้ที่ 100-200 ล้านบาท

พร้อมกันนี้บริษัทยังมีแผนเสนอขาย JFin Coin รอบ 2 จำนวน 200 ล้านโทเคน ในปี 63 เพื่อระดมทุนต่อยอดธุรกิจ และคาดจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปี 64


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ