BLA ปรับแผนเพิ่มช่องทางขายเน้นผ่านตัวแทน-ออนไลน์ลดเสี่ยงเลี่ยงแข่งขันหลัง BBL จับมือ AIA พร้อมเล็งออกยูนิตลิงค์

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 28, 2018 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนเบื้องต้นในการปรับเปลี่ยนสัดส่วนช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตภายในปี 64 โดยจะเพิ่มสัดส่วนช่องทางการขายผ่านตัวแทนเป็น 40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% และเพิ่มช่องทางการขายผ่านช่องทางอื่นๆเป็น 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 8% โดยเน้นช่องทางออนไลน์มากขึ้น หลังจากบริษัทถือเป็นแรกรายที่เริ่มรุกการขายประกันชีวิตผ่านช่องทางออนไลน์

ส่วนช่องทางการจำหน่ายผ่านธนาคารจะลดลงเป็น 40% จากปัจจุบันที่ 70% เพราะธนาคารกรุงเทพ (BBL) ซึ่งเป็นช่องทางขายหลักได้มีพันธมิตรใหม่ คือ AIA ทำให้การแข่งขันการขายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทาง BBL มีมากขึ้น และปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ขายผ่านธนาคารกรุงเทพมีแค่ 2 แบบ ได้แก่ ประกันคุ้มครองสินเชี่อ MRTA และประกันสะสมทรัพย์ อายุกรรมธรรม์ไม่เกิน 15 ปี ซึ่งลดลงไปจากเดิมหลังจาก AIA เข้ามา ทำให้บริษัทต้องปรับสัดส่วนช่องทางการขายเพื่อลดความเสี่ยง และหันมาเน้นการขายผ่านตัวแทนและช่องทางออนไลน์มากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหม่ในรูปแบบยูนิตลิงค์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ BLA ยังไม่มี รวมถึงเป็นโอกาสในการขยายผลิตภัณฑ์และขยายฐานลูกค้า จากปัจจุบันที่มีประชาชนเริ่มสนใจซื้อยูนิตลิงค์มากขึ้น ทำให้มองเห็นถึงโอกาสในการออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

นายเสนาะ ธรรมพิพัฒนกุล รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน BLA กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการทบทวนแผนการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังจากเปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่ โดยจะมีประชุมเกี่ยวกับการจัดทำแผนงานใหม่ในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของเบี้ยประกันรับรวมในปีนี้ที่ 10% แม้ว่าในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาจะติดลบ 3% เป็นผลมาจากการที่บริษัทยกเลิกการขายประกันชีวิตระยะสั้น ทำให้เบี้ยรับรวมที่ได้เข้ามาน้อยลง

ด้านพอร์ตการลงทุนของบริษัทยังอยู่ในระดับ 3 แสนล้านบาท โดยมีสัดส่วนแบ่งเป็นการลงทุนในตราสาร 80% ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาลมากกว่า 50% และตราสารของเอกชน เช่น หุ้นกู้ ตั๋วสัญญาแลกเงินระยะสั้นในสัดส่วน 20-30% ขณะที่มีการลงทุนในหุ้นสัดส่วน 10% เพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 6% หลังจากที่บริษัทมองแนวโน้มตลาดหุ้นดีขึ้น และได้อานิสงส์จากราคาหุ้นในพอร์ตเพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนการลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เท่ากับเพดานนโยบายการลงทุนในหุ้นของบริษัท

ที่เหลืออีก 5-6% ลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โดยที่อัตราผลตอบแทนทั้งปีที่บริษัทได้รับในปัจจุบันอยู่ที่ 4.6% เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4.5% ขณะที่เงินลงทุนที่เข้ามาใหม่ในแต่ละปีได้ปรับตัวลดลงเป็น 2 หมื่นล้านบาท/ปี จากเดิมที่ 3 หมื่นล้านบาท/ปี ตามภาวะของธุรกิจที่เบี้ยประกันรับเติบโตลดลงจากเมื่อก่อน เพราะการแข่งขันรุนแรง

นอกจากนี้บริษัทยังสนใจการเข้าลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) โดยที่ปัจจุบันได้มีการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนและผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าว ซึ่งมีผลตอบแทนในระดับ 5% ต่อปี ที่เป็นระดับผลตอบแทนที่น่าสนใจ และสามารถเพิ่มขึ้นเป็น 7% ทำให้บริษัทมองโอกาสเข้าไปลงทุนใน TFFIF

ด้านแนวโน้มในช่วงไตรมาส 4/61 คาดว่าภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิตจะกลับมาคึกคักมากขึ้น เพราะโดยปกติเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ ที่มีลูกค้าซื้อประกันชีวิตเป็นจำนวนมาก และคาดว่าการขยายตัวของเบี้ยประกันรับของบริษัทจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ตามภาพรวมของตลาด หลังจากที่ไตรมาส 3/61 ภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิตมีทิศทางที่ไม่ค่อยดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ