TMI รับผล disruptive ลดผลิตอุปกรณ์ส่องสว่างหันเป็นเทรดเดอร์ พร้อมปรับรง.หันผลิตพลาสติกขึ้นรูป-รุกธุรกิจผลิตไฟฟ้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 1, 2018 08:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ประสิทธิ์รัตนพร กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธีระมงคล อุตสาหกรรม (TMI) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการปรับแผนดำเนินธุรกิจหลังได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (disruptive) ทำให้เริ่มทยอยลดการผลิตอุปกรณ์ส่องสว่างจากโรงงาน และหันมานำเข้าสินค้าเข้ามาจำหน่ายทดแทน ซึ่งจะเน้นที่กลุ่มผู้บริโภค (consumer) เป็นหลัก โดยวางเป้าหมายจะลดการผลิตจากโรงงานเหลือระดับ 20% ในปี 62 จากปัจจุบันที่มีการผลิตจากโรงงานและการนำเข้ามาจำหน่ายในระดับ 50:50 และเตรียมปรับไลน์การผลิตโรงงานมารองรับการผลิตพลาสติกขึ้นรูป หรือแม่พิมพ์ เพื่อใช้เครื่องจักรและโรงงานที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนในปลายปี 62 ขณะที่เดินหน้าขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 50 เมกะวัตต์ (MW) จากที่มี 1.4 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน ผลักดันรายได้เพิ่มเป็น 3 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า

"ด้วยเทคโนโลยีตอนนี้เราตามเขาไม่ทัน ของผมอยู่ในเรื่องของ disruptive technology ที่เปลี่ยนจากหลอดสีเหลือง ๆ ตามถนนมาเป็น LED ที่เพิ่งบูมในช่วง 3-4 ปีนี้ ที่ทำให้เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วสาเหตุหนึ่งคือจีนสามารถผลิตได้คุณภาพดีและราคาถูก ก็กลายเป็นประหยัดไฟกว่า ทำได้คุณภาพดีราคาถูกก็เลยเข้ามาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเราหันมาผลิต LED เองก็ไม่คุ้ม...ตอนนี้ในส่วนของโรงงานเราก็เริ่มหาผลิตภัณฑ์ที่ไม่เกี่ยวกับระบบแสงสว่างมาเพิ่ม ไปผลิตสินค้าอย่างอื่นเลยซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกขึ้นรูป หรือโมเดลพลาสติก เพราะเรามีเครื่องจักรที่สามารถปรับเปลี่ยนในรูปแบบดังกล่าวได้ และผลิตภัณฑ์พลาสติกก็สามารถขยายไปยังสินค้าที่หลากหลายได้"นายธีระชัย กล่าว

นายธีระชัย กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการ โดยการทยอยลดการผลิตสินค้าจากโรงงานที่มีอยู่แห่งเดียวในจ.สมุทรสาคร ซึ่งวางเป้าหมายจะลดสัดส่วนการผลิตสินค้าจากโรงงานเหลือ 20% และเป็นการนำเข้ามาจำหน่าย 80% ภายในปีหน้า จากเมื่อช่วง 2-3 ปีก่อนจะเป็นการผลิตจากโรงงาน 70% และนำเข้า 30% และทยอยลดลงมาเหลือ 50:50 ในขณะนี้ และจะหันมาเน้นการขายในกลุ่ม consumer มากขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และอุปกรณ์อัตโนมัติที่อำนวยความสะดวกในบ้านที่ได้รับการตอบรับที่ดี เช่น ผลิตภัณฑ์ LED โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์จะเป็นการจ้างผลิต (OEM) ในแบรนด์ของตัวเอง "GATA"

สำหรับการผลิตพลาสติกขึ้นรูปจากโรงงานที่มีอยู่ในขณะนี้ คาดว่าจะเริ่มเห็นได้ในช่วงปลายปี 62 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมตัวด้านบุคลากร และการหาลูกค้ากลุ่มใหม่ในไลน์การผลิตพลาสติกเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งก็จะทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจในอนาคตของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปเป็นการทำเทรดดิ้งในส่วนของอุปกรณ์ส่องสว่าง ,การขายผลิตภัณฑ์พลาสติก และการทำธุรกิจไฟฟ้า โดยในปี 63 น่าจะเห็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ยังยืนยันว่าจะพยายามรักษาอัตรากำไรสุทธิให้อยู่ในระดับ 7% ต่อไป

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในระยะสั้นปีนี้ คาดว่าจะยังมีผลการดำเนินงานขาดทุนเพราะอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจและการทุ่มงบประมาณในการลงทุน แต่ก็จะยังพยายามรักษารายได้ในปีนี้ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงปีก่อนที่กว่า 400 ล้านบาท ขณะที่ในปีหน้าคาดว่าผลการดำเนินงานจะพลิกมีกำไร และมีรายได้เพิ่มเป็นราว 600 ล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นการรับรู้รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าราว 200 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพขนาด 1.4 เมกะวัตต์ ในจ.ชุมพร และการจะเข้าซื้อกิจการธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มอีกราว 10-15 เมกะวัตต์ในปีหน้า ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็นราว 50 เมกะวัตต์ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 62-64) และจะมีรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มเป็นราว 3 เท่าของรายได้ของบริษัทในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้ใน 3 ปีข้างหน้าจะมาจากธุรกิจไฟฟ้า 80% และจากธุรกิจเดิม 20%

"ปีหน้าเรามีกำไรแน่นอน จะเริ่มเห็นกำไรตั้งแต่ไตรมาส 1 ปีหน้า เพราะในส่วนของโรงไฟฟ้าจะเริ่มดี เพราะเราเริ่มปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าโรงเดียวที่มีอยู่ในปัจจุบัน จากนี้ไปก็มีเวลาอีก 4 เดือน และในส่วนของไลน์ผลิตที่ค่อย ๆ ลดลง ประกอบกับไตรมาส 1 และไตรมาสสุดท้ายจะเป็นช่วงไฮซีซั่นของอุปกรณ์ส่องสว่าง ก็จะเริ่มเห็นภาพออกมาดีขึ้น"นายธีระชัย กล่าว

TMI มีผลขาดทุนสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2/60 ส่งผลให้ทั้งปี 60 มีผลขาดทุนสุทธิ 25.24 ล้านบาท และล่าสุดในช่วงครึ่งแรกปีนี้ มีผลขาดทุนสุทธิ 17 ล้านบาท และมีรายได้จากการขาย 184 ล้านบาท

นายธีรศักดิ์ ประสิทธิ์รัตนพร รองกรรมการผู้จัดการของ TMI กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้า หลังจากที่ได้เข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพขนาด 1.4 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้น้ำเสียจากโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงนั้น บริษัทจะเข้าไปปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยใช้เงินลงทุนไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อให้สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เต็มศักยภาพจากปัจจุบันที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพียง 60% และสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี ,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 20 ล้านบาท/ปี โดยมีเป้าหมายมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มเป็น 80% ในปีหน้าและแตะระดับ 90% ในช่วงปลายปี ซึ่งจะสร้าง EBITDA ได้ราว 25-27 ล้านบาท/ปี สามารถคืนทุนได้ภายใน 4 ปี

นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจาดีลเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกตามเป้าหมายที่จะมีครบ 50 เมกะวัตต์ในช่วง 3 ปี โดยคาดว่าหวังปีหน้าจะได้ข้อสรุป 3 ดีล กำลังการผลิตรวมประมาณ 10-15 เมกะวัตต์ โดยเน้นกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA)ในมือแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพเป็นหลัก และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล

สำหรับเงินลงทุนเพื่อรองรับการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าเป็น 50 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 2.5 พันล้านบาทนั้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนของบริษัทราว 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นลักษณะเงินกู้โครงการ โดยเงินลงทุนของบริษัทจะมาจากเงินสดในมือที่มีอยู่ราว 80 ล้านบาท และยังมีศักยภาพในการกู้อีกมาก โดยบริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำที่ราว 1.17 เท่า

ทั้งนี้ หากในอนาคตบริษัทสามารถหาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายแล้วก็มีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณานำบริษัทลูก คือ บริษัท ธีระมงคล กรีน เอนเนอร์ยี จำกัด (TMGE) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ