MCOT มองหลักเกณฑ์เรียกคืนคลื่นความถี่ของภาครัฐยังไม่ชัดเจน พร้อมหารือกสทช.กรณีคืน 2600 MHz ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 8, 2018 11:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท (MCOT) เปิดเผยว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้นนั้น เห็นว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าว ยังเป็นเพียงกรอบกว้าง ๆ ซึ่งจะต้องมากำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมว่าจะเรียกคืนคลื่นจำนวนเท่าใด และเมื่อคืนคลื่นไปจะนำคลื่นไปใช้ประโยชน์อย่างไร รวมถึงจะแบ่งสัดส่วนคลื่นความถี่ให้อสมท.นำไปใช้งานต่อได้หรือไม่อย่างไร ตลอดจนจะกำหนดอัตราค่าชดเชยในการเรียกคืนครึ่งว่าจะเป็นอย่างไร

สำหรับในส่วนที่กระทบต่อ อสมท มีเพียงคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ที่กสทช.ประสานจะเรียกคืน ซึ่ง อสมท ยินดีสนับสนุนการนำคลื่นความถี่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะ แต่หน่วยงานกำกับดูแลก็ต้องเข้าใจถึงบริบทของเทคโนโลยีและมิติของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงด้วย โดยอสมท จะนำผลจากการรับฟังความคิดเห็นนี้ไปเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร และเนื่องจากอสมท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจึงต้องแจ้งการคืนคลื่นความถี่ให้ผู้ถือหุ้นรับทราบด้วย

นายเขมทัตต์ เห็นว่าประเด็นการใช้งานคลื่นความถี่ควรต้องพิจารณาถึงบริบททางสังคมประกอบกันด้วย ซึ่งการกำหนดว่าคลื่นความถี่ที่จะเอาคืนคือคลื่นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เป็นการตีความที่กว้างเกินไป โดยอสมท คงต้องหารือในประเด็นนี้กับกสทช. ด้วย เพราะการคืนคลื่น 2600 MHz เป็นคลื่นที่สามารถนำไปหลอมรวมกับกิจการโทรคมนาคมได้ ซึ่งอสมท คิดตรงกันกับกสทช. ว่าจะทำอย่างไรจะให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด และหน่วยงานของรัฐอย่างอสมท ที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน

ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ร่างประกาศดังกล่าวมีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ การคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมเมื่อเรียกคืนคลื่นความถี่กลับมา , มีกระบวนการที่โปร่งใสมาตรวจสอบทุกขั้นตอนตั้งแต่การเรียกคืนจนถึงการกำหนดค่าชดเชย และต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ด้วย ทั้งนี้ การเรียกคืนคลื่นความถี่เป็นความท้าทายเพราะจะส่งผลต่อการบริหารจัดการคลื่นความถี่ใหม่ การเรียกคืนคลื่นความถี่ยังต้องคำนึงถึงการมีคลื่นความถี่มาใช้ให้เพียงพอต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ด้วย

สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าว ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการเรียกคืนคลื่นความถี่โดยให้มีการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่โดย กสทช. เป็นผู้กำหนดเงื่อนไขในการชดเชยหรือจะให้หรือจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และให้มีคณะอนุกรรมการประกอบด้วยเลขาธิการ กสทช. ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนจากสำนักงานอัยการการสูงสุด ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการเทียบเท่าเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้พิจารณาและเสนอความเห็นในส่วนของวิธีการและเงินไขเพื่อทดแทน ชดใช้และจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ