ก.ล.ต.ห่วง นลท.ใช้คราวด์ซอร์สซิ่งตัดสินใจลงทุน วอนผู้ทำก็อปปี้เทรดให้ความสำคัญกับความโปร่งใส

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 16, 2018 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.มีความห่วงใยต่อนักลงทุนใช้คราวด์ซอร์สซิง (Investor's Crowdsourcing) หรือการนำข้อมูลที่กระจายอย่างแพร่หลายในโลกโซเชียลมาใช้เป็นกลไกตัดสินใจลงทุน เพราะเป็นกลไกที่ ก.ล.ต.ไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากกฎระเบียบของ ก.ล.ต.ในปัจจุบันเน้นในเรื่องของการควบคุมบุคคลเป็นหลัก เช่น ผู้ที่มีใบอนุญาตแนะนำการลงทุน นักวิเคราะห์ เป็นต้น แต่ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงข้อมูลบนโลกโซเชียล ก.ล.ต.จึงอยากเรียกร้องให้ผู้ที่จะทำแพลตฟอร์ม ก็อปปี้เทรด หรือการคัดลอกการเทรดจากหลากหลายเทรดเดอร์ ให้ความสำคัญต่อความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล และกระบวนการวัดผลการลงทุนที่รวดเร็ว

"พฤติกรรมของนักลงทุนในปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป ตามยุคของข้อมูลที่เข้ามามากขึ้น และมีการส่งต่อกันในโลกโซเชียลจำนวนมาก ทำให้นักลงทุนเชื่อข้อมูลของผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตเพื่อลงทุนตาม ซึ่งทาง ก.ล.ต.ก็มีความห่วงใย และอยากเรียกร้องให้ผู้ที่ทำก็อปปี้เทรด ให้ความสำคัญต่อความโปร่งใสมากขึ้น"นางทิพยสุดา กล่าว

นายเจษฎา สุขทิศ นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย กล่าวว่า จากพฤติกรรมของนักลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกของดิจิทัล จะส่งผลทำให้มีการเปิดบัญชีการซื้อขายหุ้นเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว จากปัจจุบันอยู่กว่า 1 ล้านบัญชี เนื่องจากมีการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น และมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนมากขึ้น โดยสิ่งที่ต้องทำคือ การให้ความรู้ความเข้าใจในด้านเทคโนโลยี, การส่งเสริมให้คนเข้าถึงนวัตกรรม และการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาสมาคมฯ ก็มีการร่วมมือกับ ก.ล.ต. ในการจัดการแข่งขัน FinTech Challenge ซึ่งปัจจุบันเป็นครั้งที่ 3 แล้ว เพื่อสร้างโอกาสในการนำเสนอนวัตกรรมทางการเงินที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยช่วยให้เข้าถึงบริการทางการเงินและการลงทุนได้อย่างทั่วถึง รวมไปถึงการเป็นเครื่องมือช่วยในการวางแผนการออมและการลงทุน การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลและการขจัดอุปสรรคการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

นายอนนต์ อุ่นสินมั่น ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมฟินเทคประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจฟินเทคในประเทศไทยถือว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 150 บริษัทแล้ว จากปี 59 อยู่ที่ 80 บริษัท และปี 60 เพิ่มเป็น 150 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจ playment, investment และการบริหารการเงิน โดยที่ผ่านมาก็มีนักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจเข้าลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และมีการติดต่อขอรับข้อมูลกับทางสมาคมฯ

ทั้งนี้ มองว่า พ.ร.บ.ฟินเทค ที่คาดว่าจะออกมาในเร็วๆนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีทางการเงิน สามารถขอข้อมูลกับทางหน่วยงานภาครัฐได้ง่ายขึ้นในการนำข้อมูลไปใช้ในทางธุรกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ