NER ปิดท้ายโรดโชว์ 17 จังหวัด ลุยต่อสิงคโปร์-จีน-ฮ่องกง เตรียมพร้อมขาย IPO 600 ล้านหุ้นขยายกำลังผลิตเท่าตัวในปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 17, 2018 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บมจ. นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) กล่าวว่า NER ได้เสร็จสิ้นการนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน (โรดโชว์) ในประเทศทั้งหมด 17 จังหวัดแล้วในวันนี้ โดยปิดท้ายที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนทั่วไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจัดโรดโชว์ให้กับสถาบันในประเทศ 5 แห่ง หลังจากนี้บริษัทจะเดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศอีก 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง โดยมีนักลงทุนสถาบันต่างประเทศตอบรับเข้าร่วมรับฟังข้อมูลหลายราย

ทั้งนี้ NER ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยได้เริ่มนับ 1 ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 600 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 38.96% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO คาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปีนี้

บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการก่อสร้างโรงงานใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ยางแท่ง (STR20) และยางผสม (Mixtures Rubber) เพิ่มอีก 1 โรง กำลังผลิต 172,800 ตัน/ปี ใช้เงินลงทุนราว 456 ล้านบาท เปิดดำเนินการในปี 63 รวมไปถึงการดำเนินการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตยางผสม (Mixtures Rubber) จะช่วยให้กำลังผลิตเพิ่มขึ้น 60,000 ตัน/ปี ใช้เงินลงทุน 40 ล้านบาท เริ่มผลิตได้ในไตรมาส 2/62 ซึ่งจะทำให้ในปี 63 บริษัทจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบันที่ 230,000 ตัน/ปี เป็น 4.6 แสนตัน ส่วนเงินที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ

ด้านนายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NER กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน (Ribbed Smoked Sheet : RSS) ยางแท่ง (Standard Thai Rubber: STR) และยางคอมปาวด์ (Mixtures Rubber) เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมไปถึงกลุ่มผู้ค้าคนกลางทั้งในและต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย

ผลประกอบการในปี 60 ที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ 9,805.08 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 273.32 ล้านบาท ขณะที่ช่วงครึ่งปีแรกปี 61 บริษัทมีรายได้ 3,971.43 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 166.67 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาผลประกอบการมีการเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีมากขึ้น ทำให้ต้องมีการผลิตเต็มเวลา หรือ 24 ชั่วโมงต่อวัน

นายชูวิทย์ กล่าวว่า ผลประกอบการของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มีความผันผวน แม้ว่ายางพาราจะเป็นสินค้าเกษตรที่มีปัจจัยราคาอ้างอิงทั้งจากตลาดโลกและกลไกในประเทศ เนื่องจากบริษัทเน้นการผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า โดยไม่ได้มีการซื้อขายในรูปแบบการเก็งกำไร อีกทั้งเป็นการผลิตหลังจากทำการตลาด หรือมีออร์เดอร์แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสัญญาส่งมอบราว 3 เดือน ทำให้ผลประกอบการค่อนข้างมีเสถียรภาพ

ปัจจุบันบริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ในระดับ 5.16 เท่า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในการสต็อกวัตถุดิบที่สำรองไว้เพื่อลดความเสี่ยงด้านราคา แต่ทั้งหมดมีคำสั่งซื้อรองรับไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วจะทำให้ D/E ลดลงเหลือราว 2 เท่าใกล้เคียงกับอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ฐานะการเงินของบริษัทแข็งแรงขึ้น

ด้านนายเสกสรรค์ ธโนปจัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APM เปิดเผยว่า ความต้องการยางของลูกค้าเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากในประเทศอยู่ 60% และต่างประเทศ 40% โดยลูกค้ากลุ่มหลักของบริษัทมาจากผู้ผลิตยางรถยนต์หลายๆราย ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในไทยอยู่แล้ว หรือย้ายฐานการผลิตในประเทศไทย รวมไปถึงผู้ผลิตยางรถยนต์ในต่างประเทศด้วย

"ปัจจุบันนี้บริษัทมีการใช้กำลังการผลิตเต็ม 24 ชั่วโมงอยู่ การระดมทุนครั้งนี้หลักๆเลยคือการนำเงินไปลงทุนโรงงานแห่งใหม่ ซึ่งแผนก็เป็นปี 63 ที่กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัว ซึ่งจะมารองรับความต้องการของลูกค้าได้"นายเสกสรรค์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ