(เพิ่มเติม) IOD เผยคะแนนประเมิน CG บจ.ไทยปี 61 ทำสถิติสูงสุดสะท้อนการปรับตัวตามกระแสโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 19, 2018 17:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสัณห์ เชื้อพานิช ประธานกรรมการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เปิดเผยในงานสัมมนานำเสนอผลประเมินการรายงานด้านการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยประจำปี 2561 (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2018) เมื่อวันที่ 19 ต.ค.61 ว่า คะแนนการประเมินทางด้าน CG ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปีนี้ยังคงเฉลี่ยอยู่ในระดับดีมาก โดยจากการสำรวจ บจ. ทั้งหมด 657 บริษัท พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 81% สูงที่สุดตั้งแต่เริ่มทำการประเมินคะแนน CGR ในปี 44 และเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 80% ในปี 2560 (620 บริษัท) ซึ่งคะแนนเฉลี่ยของ บจ. เพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวด

หากพิจารณาคะแนนเฉลี่ยรายหมวดของผลสำรวจในปี 61 พบว่า หมวดที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 80% มี 4 หมวดได้แก่ หมวดสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 94% ,92%, 85% และ 80% ตามลำดับ

สำหรับหมวดสิทธิของผู้ถือหุ้น สิ่งที่ทำได้ดี คือ ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการอนุมัติค่าตอบแทนในทุกรูปแบบของกรรมการมากขึ้น และผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการเสนอวาระ หรือรายชื่อกรรมการล่วงหน้าก่อนมีการประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงจัดให้มีผู้ตรวจสอบนับคะแนนเสียง ส่วนหมวดการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน สิ่งที่ทำได้ดีคือ การจัดให้มีการประเมินผลงานคณะกรรมการทั้งคณะและรายบุคคล พร้อมเปิดเผยกระบวนการและหลักเกณฑ์ของการประเมินเป็นรายบุคคล และการจัดให้มีการประเมินผลงาน CEO

ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส สิ่งที่ทำได้ดี คือ การเปิดเผยการถือหุ้นของกรรมการและผู้บริหารทั้งทางตรงและทางอ้อม, การเปิดเผยว่าได้มีการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือไม่อย่างไร ในกรณีที่ไม่ได้ปฏิบัตินั้นเป็นเพราะเหตุใด และ การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย สิ่งที่ทำได้ดีคือ การแจ้งเบาะแสการกระทำผิด ในเรื่องของนโยบายและการเปิดเผยข้อมูลในการดำเนินการ รวมถึงเรื่องของการปกป้องผู้แจ้งเบาะแส, การประเมินความเสี่ยงจาก Corruption และการฝึกอบรมเรื่อง Corruption และนโยบายการปฎิบัติต่อคู่ค้า เจ้าหนี้และการฝึกอบรมพนักงาน

จากผลการสำรวจ พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 70% หรือได้สามดาวขึ้นไป 557 บริษัท โดยแบ่งเป็นบริษัทที่ได้รับคะแนน 70-79% (สามดาว) 174 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 26, มีบริษัทที่ได้รับคะแนน 80-89% (สี่ดาว) 241 บริษัท คิดเป็น 37% และบริษัทที่ได้รับคะแนน 90% ขึ้นไป (ห้าดาว) 142 บริษัท คิดเป็น 22%

"ผลสำรวจในปีนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทจดทะเบียนไทยทั้งที่มีขนาดใหญ่และขนาดเล็กในการพัฒนามาตรฐาน CG อย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าบริษัทส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตของธุรกิจควบคู่กับการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้ม CG ในระดับสากลที่เปลี่ยนจาก Shareholder-Centric มาเป็น Stakeholder-Centric มากขึ้น" นายประสัณห์ กล่าว

นายประสัณห์ กล่าวอีกว่า เมื่อนำผลการประเมิน CGR ไปจับกับเกณฑ์ของ ASEAN CG Scorecard ที่ได้ให้ความสำคัญในอีก 5 เรื่อง ได้แก่ การกำหนดกลยุทธ์ การสรรหากรรมการ นโยบายความหลากหลายของกรรมการ การประเมินผลงานคณะกรรมการ การกำหนดค่าตอบแทนคณะกรรมการ พบว่า สิ่งที่บจ.ไทยทำได้ค่อนข้างดี คือ การมีนโยบายทางด้านความเสี่ยง

ส่วนสิ่งที่ บจ.ไทย ต้องปฏิบัติตามและให้ความสำคัญมากขึ้น คือ นโยบายค่าตอบแทนของ CEO ทั้งระยะสั้นและระยาว รวมถึงตามผลการปฏิบัติงานของ CEO, วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการอิสระไม่เกิน 9 ปี, คณะกรรมการควรประกอบด้วยกรรมการเป็นอิสระมากกว่า 50%, การจัดทำรายงานความรับผิดชอบทางสังคมตามกรอบของ Global Reporting Initiative (GRI) และนโยบายค่ตอบแทนพนักงานที่สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัททั้งในระยะสั้นและระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ประเด็น CG ที่ควรให้ความสำคัญต่อไปเพื่อไปสู่ระดับสากลมากขึ้น คือ CEO Compensation Policy ที่ต้องกำหนดทั้งระยะสั้นและระยะยาว, Sustainability Report, Board Diversity, Lead Independent Director และ IT Governance

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลท.มีหลักในการทำงานร่วมกับพันธมิตรองค์กรต่าง ๆ ในตลาดทุน ซึ่งโครงการนี้ ตลท.ได้สนับสนุน IOD เป็นผู้จัดทำผลการประเมิน CGR มาตั้งแต่เริ่มต้นในปี 44 โดยภาพรวมคะแนนผลการประเมิน CGR ของ บจ. มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องสะท้อนถึงมาตรฐานการทำงานที่สูงขึ้น

และจากผลประเมิน ASEAN CG Scorecard ก็แสดงให้เห็นคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนที่โดดเด่นและเป็นผู้นำในภูมิภาคมาโดยตลอด ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ ตลท.ที่ต้องการส่งเสริมให้ บจ. เห็นความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้ บจ.ไทยมีคุณภาพ มีความสามารถในการแข่งขันและเป็นที่ยอมรับในสายตาของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ