KTB เตรียมบันทึกกำไรพิเศษจาก AQ ในช่วงต้นปี 62 หลัง AQ ขายที่ดินได้ พร้อมคาดผลงานปี 62 โตโดดเด่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 24, 2018 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) คาดว่าแนวโน้มภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 62 จะเติบโตโดดเด่นกว่าปี 61 ซึ่งแผนงานของธนาคารยังคงเน้นการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยที่ธนาคารพยายามให้กำไรของธนาคารเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการดำเนินงานในปี 62 คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือนถึงจะแล้วเสร็จ และจะมาประกาศให้ทราบอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในปี 62 ธนาคารจะมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการคืนหนี้ของ บมจ.เอคิว เอสเตท (AQ) หลังจากที่ในสัปดาห์ก่อน AQ ได้เปิดประมูลที่ดิน 4,300 ไร่ มูลค่า 8.9 พันล้านบาท และได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ซึ่งกระบวนการชำระเงินคืนหนี้ที่ได้จากการขายที่ดินของ AQ ให้กับธนาคารจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 62

หลังจาก AQ ชำระคืนหนี้จากการขายที่ดินมาให้กับธนาคารแล้วก็จะมีการบันทึกกำไรพิเศษเข้ามา ซึ่งกำไรพิเศษที่บันทึกเข้ามานั้นธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาจะนำมาใช้ในด้านใด ซึ่งอาจจะนำมาใช้ในการตั้งสำรองฯ ก็เป็นไปได้ เพราะธนาคารต้องการให้อัตราส่วนการตั้งสำรองฯ ต่อหนี้สูญ (Coverage Ratio) เพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์อื่นเฉลี่ยที่ 140% ซึ่งปัจจุบัน Coverage Ratio ของธนาคารยังต่ำกว่าอุตสาหกรรม โดยอยู่ที่ 122-123% ทำให้ธนาคารมองเห็นถึงโอกาสนี้ที่จะทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และต้องการให้ภาพรวมของผลการดำเนินงานของธนาคารเกิดความสมดุลระหว่างกำไรและงบดุล

นอกจากนี้ การที่ AQ สามารถชำระคืนหนี้ให้กับธนาคารได้แล้ว ทำให้แนวโน้มของระดับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารผ่อนคลายมากขึ้น เพราะการตั้งสำรองของ AQ ธนาคารได้ตั้งสำรองไป 50% ของมูลหนี้ทั้งหมด และไม่ได้ตัดจำหน่ายหนี้สูญไปทั้งหมด

"การที่ AQ คืนหนี้มาให้กับธนาคารได้ทำให้ภาพรวมระดับ NPL ของธนาคารดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 62 และแนวโน้มของ NPL ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการและการดูแลพอร์ตของธนาคารที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังมีลูกค้าบางกลุ่มที่ยังคงมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นที่ธนาคารดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มลูกค้าข้าว และกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้น" นายผยงระบุ

นายผยง กล่าวว่า ภาพรวมระดับ NPL ของธนาคารในสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท โดยที่ธนาคารยังมีการจำหน่ายหนี้ออกไปตามปกติ แต่ไม่ได้จำหน่ายออกไปเป็นล็อตใหญ่ และแนวโน้มการตั้งสำรองฯ ในไตรมาส 4/61 คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 3/61 หลังจากที่แนวโน้มของ NPL เริ่มดีขึ้น

ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ปัจจุบันได้ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว และพบว่ามีการกระทำผิดและบกพร่อง ที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ผิดระเบียบของธนาคารของเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่ง ซึ่งยังขอไม่เปิดเผยในตอนนี้ และธนาคารเตรียมที่จะมีการลงโทษผู้กระทำผิดจากในกรณีดังกล่าวที่มีความผิดหลายระดับต่อไป โดยที่กรณีของ EARTH ถือเป็นบทเรียนให้ธนาคารต้องปรับปรุงระบบการทำงาน และกลไกการตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้นตลอดเวลา เพื่อทำให้การทำงานต่างๆเป็นไปตามกฏระเบียบของธนาคารที่โปร่งใส

ด้านมุมมองต่อมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารมองว่าส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารอย่างแน่นอน ซึ่งอยากให้ ธปท.ทบทวนมาตรการดังกล่าวอย่างรอบคอบอีกครั้ง แม้ว่าธนาคารจะเข้าใจว่า ธปท.มีความกังวลต่อสถานการณ์ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่มีการปล่อยกู้เพื่อซื้อที่อยู่เพื่อการเก็งกำไรในบางกลุ่ม และมีบางธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ากลุ่มนี้ แต่อยากให้มาตรการของ ธปท.ออกมาในลักษณะที่ไม่เหมารวมทั้งอุตสาหกรรม เพราะมีการใช้มาตรการที่สามารถควบคุมในเฉพาะจุดได้ และอยากให้เข้าใจเหตุผลของการซื้อที่อยู่อาศัยของลูกค้า เพราะลูกค้าบางรายซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือหลังที่ 3 เพื่อให้ครอบครัวอยู่อาศัย หรือบางรายอยู่ระหว่างรอการชำระเงินจากการขายบ้านเดิม และได้ซื้อบ้านหลังใหม่ไปแล้ว โดยที่พอร์ตสินเชื่อบ้านของธนาคารส่วนใหญ่เป็นการปล่อยให้ลูกค้าที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และมีลูกค้าที่กู้ซื้อบ้านราคามากกว่า 10 ล้านบาทเพียงเล็กน้อย

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะประธานกรรมการธนาคาร เปิดเผยว่า คณะกรรมการธนาคาร ได้รับรายงานผลสอบข้อเท็จจริงการปล่อยกู้สินเชื่อให้กับ EARTH จนทำให้ธนาคารมีหนี้เสียเพิ่ม 1.2 หมื่นล้านบาท จากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว โดยมีข้อสรุปว่ามีพนักงานของธนาคารบางส่วนกระทำความผิดจริง และเป็นพนักงานที่อยู่ในทุกระดับ

"การดำเนินการเอาผิดพนักงานและผู้บริหารแบงก์ ต้องทำตามกระบวนการกฎหมายทุกอย่าง หากมีการโกงเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ก็ต้องถูกดำเนินการตามระเบียบวินัยของพนักงาน จะมีโทษมากน้อยขึ้นอยู่กับกรณี เพราะธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารของรัฐ ถ้าพิสูจน์ออกมาแล้วว่ามีการโกงก็ต้องดำเนินคดีตามขั้นตอนต่อไป" นายเอกนิติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ