GULF เตรียมเซ็นกู้เงินราว 4 หมื่นลบ.ในเดือนพ.ย.สร้างโรงไฟฟ้า IPP ,ออกหุ้นกู้ไม่เกิน 1 หมื่นลบ. Q1/62

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 29, 2018 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ขนาดกำลังผลิตตามสัญญา 2,500 เมกะวัตต์ (MW) ของบริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด (GSRC) ที่ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เตรียมที่จะเซ็นสัญญากู้เงินราว 4 หมื่นล้นบาท จากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศในวันที่ 9 พ.ย.นี้ โดยจะเป็นการกู้เงินสกุลบาทและดอลลาร์สหรัฐในสัดส่วน 50:50 เพื่อรองรับการลงทุนโครงการที่จะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 64-65

ส่วนโครงการ IPP ขนาดกำลังการผลิตตามสัญญา 2,500 เมกะวัตต์ อีก 1 โครงการที่ดำเนินการโดยบริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด (GPD)ตั้งอยู่ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง คาดว่าจะจัดหาเงินกู้ได้ในช่วงปี 63 หลังโครงการมีกำหนด COD ในปี 66-67

"โครงการที่ศรีราชา เราต้องเริ่มสร้างสิ้นปีนี้ต้องเบิกเงินกู้ในเดือนธันวาฯ โครงการใช้เวลาก่อสร้างเกือบ 3 ปี ก็ต้องเริ่มโครงการนี้ก่อน ส่วน IPP อีกโครงการยังมีช่วงเวลาในการจัดหาแหล่งเงินกู้"นางสาวยุพาพิน กล่าว

นางสาวยุพาพิน กล่าวว่า โครงการ IPP ทั้ง 2 โรงดังกล่าวเป็นความร่วมทุนระหว่าง GULF และ Mitsui ภายใต้สัญญาผู้ถือหุ้นสัดส่วน 70% และ 30% ตามลำดับ โดยเชื่อว่าโครงการ IPP จะสร้างผลตอบแทนให้บริษัทได้ดีมาก เนื่องจากมีต้นทุนการดำเนินการต่ำ คิดเป็นต้นทุนการลงทุนราว 7 แสนเหรียญสหรัฐ/เมกะวัตต์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทได้สั่งซื้อเครื่องกังหันก๊าซ (Gas Turbine) พร้อมกันทั้ง 8 เครื่อง รองรับการดำเนินโครงการ IPP ทั้ง 2 โรง ทำให้ได้ราคาถูก ซึ่งจะผลักดันให้โครงการมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) มากถึงระดับ 25-28%

ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงานบริษัทจะมุ่งการดำเนินงานสำหรับโครงการในมือที่มีอยู่ โดยเฉพาะในปีหน้าที่จะมีโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) จะทยอย COD อีก 4 โครงการ, การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า IPP ที่ศรีราชา ,การลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในเวียดนาม ,การลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในโอมาน รวมถึงยังมองหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก และพลังงานทดแทน เบื้องต้นประเมินว่าในช่วงปี 62-63 มีความต้องการใช้เงินประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทก็ยังมีศักยภาพในการหาแหล่งเงินกู้อยู่มาก เนื่องจากปัจจุบันมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ในระดับต่ำ ที่ 1.6 เท่า

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ในวงเงินไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท อายุไม่เกิน 10 ปี หากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 27 พ.ย.นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถออกและเสนอขายในช่วงไตรมาส 1/62 เพื่อรองรับการชำระคืนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดในเดือน ก.ย.62 วงเงิน 6 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้รองรับการลงทุน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

นางสาวยุพาพิน กล่าวว่า หลังจากการกู้เงินสำหรับโครงการ IPP ในเดือนพ.ย. นี้และการออกหุ้นกู้ในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า จะทำให้สัดส่วน D/E เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึง 2.5 เท่า ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ คือ ไม่เกินระดับ 3.1 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ