(เพิ่มเติม) กรมทางหลวงคาดเปิดประมูล PPP มอเตอร์เวย์ บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว มูลค่า 4.8 หมื่นลบ.ปลายปี 62

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 7, 2018 14:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า วันนี้กรมทางหลวงได้จัดสัมนาเพื่อประเมินความสนใจของเอกชน (Market Sounding) การศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางขุนเทียน- ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว มูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสรุปข้อมูลโครงการและจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ PPP ในช่วงต้นปี 62 โดยเชื่อว่าจะเปิดประมูลในช่วงปลายปี 62 เริ่มก่อสร้างในปี 63 และเปิดใช้บริการได้ในปี 66

"ประเมินแล้วน่าจะเป็น PPP แบบ Net Cost เราไม่อยากแบกรับความเสี่ยง โครงการนี้ กรมทางหลวงจะลงทุนงานก่อสร้าง 10 กม.แรก วงเงิน 1.05 หมื่นล้านบาท เราก็จะเอาส่วนนี้ไปร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ทั้งนี้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโครงการนี้จะเป็นแบบ BTO (Build-Transfer-Operation)"นายอานนท์ กล่าว

มอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน- ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน- บ้านแพ้ว มีรูปแบบเป็นทางยกระดับอยู่บนถนนทางหลวงหมายเลข 35 โดยมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก บริเวณด่านบางขุนเทียนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และมีจุดสิ้นสุดโครงการที่บริเวณที่บริเวณก่อนถึงแยกบ้านแพ้ว รวมระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร (กม.)

ขอบเขตโครงการนี้ แบ่งเป็นงานระยะที่ 1 ออกแบบและก่อสร้างโครงการระยะเวลา 3 ปี ซึ่งช่วง 10 กม.แรกภาครัฐลงทุน และให้เอกชนลงทุนและก่อสร้างระยะทาง 15 กม.ขนาด 6 ช่องจราจร และลงทุนงานระบบตลอดโครงการ 25 กม.ทั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง, ระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจร, อาคารศูนย์ควบคุมกลาง, ระบบบริหารจัดการทรัพย์สิน, ระบบโครงข่ายสื่อสาร ,ระบบการจ่ายกำลังไฟฟ้า ทั้งหมดนี้มีงบลงทุนประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท (ซึ่งรวมการลงทุนของภาครัฐที่ลงทุน 1.05 หมื่นล้านบาท ในช่วง 10 กม.)

งานระยะที่ 2 เป็นงานดำเนินงานและบริหารระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง คาดมีเงินลงทุน 6.3 พันล้านบาท รวมการบำรุงรักษา ประมาณ 9.8 พันล้านบาท ระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี ประเมินมูลค่าลงทุนรวมประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นจะมีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี และดำเนินการระยะเวลา 30 ปี โดย

อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า งานโยธาก่อสร้างระยะทาง 10 กม. ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย กรมทางหลวงจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าในเดือน พ.ย.นี้จะเปิดประมูล แบ่งเป็น 3 สัญญา สัญญาที่ 1 จำนวน 4 พันล้านบาท สัญญาที่ 2 จำนวน 4 พันล้านบาท และสัญญาที่ 3 จำนวน 2.5 พันล้านบาท

สำหรับโครงการมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม.วงเงินลงทุน 7.9 หมื่นล้านบาท รอเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ใช้รูปแบบ PPP Net Cost โดยคาดจะเปิดประมูลในข่วงต้นปี-กลางปี 62 เริ่มสร้างได้ปลายปี 63 โดยจะมีทั้งงานโยธาก่อสร้าง งานดำเนินการและซ่อมบำรุง และให้บริการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี

ขณะที่โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา และ มอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลพร้อมกันในปลายปีนี้ อย่างไรก็ดี กรมทางหลวงอยู่ระหว่างปรับตัวเลขการเวนคืนที่ดินในส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาให้น้อยลงกว่าเดิม โดยคาดว่าจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมได้ไม่เกินสัปดาห์หน้า

ด้านที่ปรึกษาโครงการมอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน-ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน- บ้านแพ้ว เอกชนลงทุนในส่วนงานโยธา 15 กม.ทีเหลือ มีเงินลงทุนราว 2.1 หมื่นล้านบาท สำหรับงานระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ลงทุน 1.6 หมื่นล้านบาท คำนวณผลตอบแทนของโครงการ (Project IRR) ประมาณ 8.2% ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี ซึ่งยังไม่รวมภาระเงินกู้หรือแหล่งเงินอื่นที่เอกชนร่วมลงทุนสามารถหาแหล่งเงินอื่นเข้ามาลงทุน โดยประเมินรายได้ในปีแรก(ปี 66) 1.3 พันล้านบาท/ปี และในปีสุดท้าย (ปี 95) มีรายได้อยุ่ที่ 8 พันล้านบาท/ปี โดยสมมติฐานคิดค่าผ่านทางแรกเข้า 10 บาทและ 2 บาท/กม. ซึ่งจะคิดตามระยะทาง สำหรับรถ 4 ล้อ ทั้งนี้ประเมินว่าใน 4 ปีแรกจะมีปริมาณจราจร 5 - 7 หมื่นคัน/ปี และจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 1 แสนคัน/ปี และเมื่อจบโครงการจะมีปริมาณจราจรที่ 2.2 แสนคัน/ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ