PTTEP-เชฟรอนฯ ผ่านเบื้องต้นประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ รอลุ้นเปิดซองสุดท้าย ก่อนประกาศผลในธ.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 8, 2018 14:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการพิจารณาให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และ G2/61 (แหล่งบงกช) โดยผู้ที่เข้าร่วมประมูลจำนวน 2 กลุ่ม คือกลุ่มเชฟรอนฯ และกลุ่มบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ผ่านคุณสมบัติสำหรับการเปิด 3 ซองข้อเสนอก่อนหน้านี้ และในวันนี้ (8 พ.ย.) คณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ได้เปิดซองสุดท้าย ซองที่ 4 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านราคาก๊าซธรรมชาติ อัตราส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่เป็นกำไรระหว่างรัฐ และผู้รับสิทธิ สัดส่วนการจ้างพนักงานไทย ที่กำหนดว่าในปีแรกจะต้องจ้างพนักงานคนไทยไม่ต่ำกว่า 80% และเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 90% ในปีที่ 5 รวมถึงเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนรัฐอื่น ๆ

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯจะส่งมอบซองดังกล่าวให้กับคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ เพื่อประมวลผลข้อเสนอในการพิจารณาความสอดคล้องของข้อเสนอในซองที่ 4 กับข้อเสนอทางเทคนิค ความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ และการมีสมมติฐานที่สมเหตุสมผล เพื่อสรุปผลหาผู้ที่สมควรได้รับการคัดเลือก โดยจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะนำผลการพิจารณาเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการปิโตรเลียม เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป โดยคาดว่าจะประกาศผลผู้ชนะประมูลได้ภายในเดือนธ.ค.61

"เราเน้นให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพิจารณาอย่างโปร่งใส ทำทุกขั้นตอนให้ชัดเจนให้ความเป็นธรรมกับทุก ๆ รายที่ยื่นข้อเสนอมา วันนี้ที่เปิดซองที่ 4 ซึ่งเป็นซองด้านราคาและหลักการการแบ่งผลประโยชน์ต่าง ๆ เป็นขั้นตอนที่เราดำเนินการหลังจากที่คณะกรรมการปิโตรเลียม ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯที่ได้พิจารณาซองที่ 1-3 ครบถ้วนหมดแล้ว...ทั้ง 2 กลุ่มที่ยื่นข้อเสนอมาก็ผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 ซอง"นายศิริ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้เปิดให้ยื่นเอกสารประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณเมื่อ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ยื่นประมูล 2 กลุ่ม สำหรับแหล่งเอราวัณ มีผู้ยื่นประมูล 2 ราย ได้แก่ 1. บริษัท ปตท.สผ.เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ถือหุ้น 60% ร่วมกับบริษัท เอ็มอีจี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มมูบาดาลา ถือหุ้น 40% 2. บริษัท เชฟรอน ไทย แลนด์ แอนด์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 74% ร่วมกับบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด ถือหุ้น 26%

ส่วนแหล่งบงกช ได้แก่ 1. บริษัท ปตท.สผ.เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ถือหุ้น 100% และ 2. บริษัท เชฟรอน ไทย แลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 74% ร่วมกับบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด ถือหุ้น 26%

โดยผู้เข้าประมูล ได้ยื่นเอกสารประมูลทั้งหมด 4 ซอง ได้แก่ ซองที่ 1 เอกสารด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรเลียมตามกฎหมาย, ซองที่ 2 เอกสารด้านข้อเสนอหลักการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน ซองที่ 3 เอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค และซองที่ 4 เอกสารข้อเสนอด้านราคาขายก๊าซฯ ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทย

นายศิริ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุนในแต่ละแหล่งในสัดส่วนราว 25% นั้น รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดคัดเลือกให้หน่วยงานในสังกัดที่มีศักยภาพเข้าร่วมลงทุน แต่ไม่มีความจำเป็นจะต้องสรุปได้พร้อมกับการประกาศชื่อผู้ได้รับคัดเลือก แต่เป็นสิทธิของรัฐในการดำเนินการซึ่งต้องพิจารณาตามความเหมาะสมด้วย โดยเบื้องต้นหน่วยงานรัฐนั้นจะต้องมีพื้นฐานการเงินที่แข็งแกร่ง เพราะต้องใช้เงินเข้าไปร่วมลงทุน ซึ่งคาดการณ์ว่าการเปิดประมูลแหล่งบงกช และเอราวัณครั้งนี้จะทำให้เกิดการลงทุนใหม่ที่มีมูลค่ามากถึง 1.1 ล้านล้านบาทใน 10 ปีข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ