"ทริส"ลดเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ ASIAN เป็น BBB- จาก BBB แนวโน้มNegative

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 10, 2008 08:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. ห้องเย็นเอเชี่ยนซีฟู้ด (ASIAN) เป็นระดับ “BBB-" จากเดิมที่ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ" 
โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลงเนื่องจากผลประกอบการที่ขาดทุนอย่างมากในธุรกิจปลาทูน่าและภาระหนี้ที่มีอยู่ในระดับสูง อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงลักษณะของอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรงและผันผวน ตลอดจนขนาดของบริษัทที่เล็กเมื่อเทียบกับผู้ส่งออกรายใหญ่ระดับโลก มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ และความผันผวนของค่าเงินบาท
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถ รวมถึงการมีสินค้าและตลาดรองรับที่หลากหลาย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งที่มีต่อฐานะทางการเงินของบริษัทเนื่องจากขณะนี้บริษัทได้กระทำผิดสัญญาเงินกู้บางฉบับ และคาดว่าจะผิดสัญญาเงินกู้ฉบับอื่นที่ใช้อัตราส่วนทางการเงินที่กำหนดเปรียบเทียบกับผลประกอบการ ณ สิ้นปีของบริษัท ความคืบหน้าในการเจรจาขอผ่อนผันการผิดสัญญาดังกล่าวและความสำเร็จในการปรับโครงสร้างทางการเงินเพื่อลดภาระหนี้จะเป็นปัจจัยหลักที่อาจปรับให้แนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable" หรือ “คงที่" นอกจากนี้ บริษัทจะต้องพยายามปรับปรุงธุรกิจปลาทูน่าและธุรกิจอาหารสัตว์ รวมทั้งพยายามหาประโยชน์อย่างเต็มที่จากการขยายธุรกิจสู่กิจการอาหารสัตว์ และการสร้างตลาดสำหรับธุรกิจปลาทูน่า
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทห้องเย็นเอเชี่ยนซีฟู้ดเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลขนาดกลางของไทยซึ่งคาดว่าจะมียอดขายรวมในปี 2550 อยู่ที่ระดับ 7.6 พันล้านบาท จุดแข็งประการหนึ่งของบริษัทคือการมีคณะผู้บริหารซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจอาหารทะเลมานาน บริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตั้งแต่ผลิตภัณฑ์พื้นฐาน เช่น กุ้งดิบแช่แข็ง ไปจนถึงสินค้าเพิ่มมูลค่า เช่น กุ้งชุบผงขนมปังและกุ้งซาชิมิแบบญี่ปุ่น นอกจากนี้ บริษัทยังมีตลาดเฉพาะสำหรับสินค้าประเภทปลาทรายด้วย การมีสินค้าที่หลากหลายและการมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับลูกค้าช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการบริหารงาน บริษัทส่งออกอาหารทะเลส่วนใหญ่ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป
ในระหว่างปี 2548-2549 บริษัทใช้งบลงทุนกว่า 1 พันล้านบาทในโรงงานแปรรูปปลาทูน่า กิจการห้องเย็น และธุรกิจอาหารกุ้ง ส่งผลให้ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยหลายประการทั้งจากเงินบาทที่แข็งค่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และราคาปลาทูน่าที่ปรับตัวสูงเป็นประวัติการณ์ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสามารถของบริษัทในการสร้างกำไรจากธุรกิจใหม่ดังกล่าว
ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนเพิ่มสูงขึ้น เกิดภาระหนี้เพิ่ม โดยฐานะทางการเงินของบริษัทเสื่อมถอยลง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทอาจต้องใช้เวลานานกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในการสร้างรายได้และกระแสเงินสดที่มั่นคงจากธุรกิจปลาทูน่า นอกจากนี้ ลักษณะของอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่ผันผวนส่งผลให้บริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ในระดับต่ำ และการมีธุรกิจขนาดกลางทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทมีความเปราะบางจากผลกระทบของการลงทุนขนาดใหญ่และความแปรปรวนของค่าเงินบาทได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทคาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นในระยะปานกลางเนื่องจากราคาปลาทูน่าลดระดับลงจากจุดสูงสุดและบริษัทได้รับประโยชน์จากการปรับกลยุทธ์ อาทิ การปรับเปลี่ยนผู้บริหารและความช่วยเหลือจาก StarKist ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องอันดับหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา
ทริสเรทติ้งคาดว่าในระยะปานกลาง บริษัทน่าจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าโดยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้จากการขายของบริษัทอยู่ที่ 1.9% ลดลงจากในปี 2549 ที่ 2.8% อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 64.8% ในปี 2549 เป็น 71.7% ณ เดือนกันยายน 2550 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงจาก 1.6 เท่าในปี 2549 เป็น 1.4 เท่าสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นในธุรกิจอาหารทะเล บริษัทห้องเย็นเอเชี่ยนซีฟู้ดประสบกับปัญหาราคาวัตถุดิบและราคาสินค้าที่มีความผันผวน โดยบริษัทมีกระแสเงินสดค่อนข้างแปรปรวนและขึ้นอยู่กับฤดูกาล บริษัทถือว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับผู้ส่งออกรายใหญ่ระดับโลกหลายๆ ราย ซึ่งทำให้บริษัทมีความเสียเปรียบในแง่ของการประหยัดจากขนาดและการดำเนินธุรกิจที่ครบวงจร
นอกจากนี้ มาตรการกีดกันทางการค้ายังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความยากลำบากให้แก่ผู้ส่งออกอาหารทะเล แต่ในทางตรงกันข้าม มาตรการดังกล่าวอาจเป็นประโยชน์แก่บริษัทที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ซึ่งรวมถึงบริษัทด้วยเนื่องจากบริษัทส่งออกที่มีขนาดเล็กจำนวนมากอาจไม่สามารถปฏิบัติตามกฎที่เข้มงวดยิ่งขึ้นได้และอาจต้องเลิกดำเนินธุรกิจในตลาดดังกล่าวในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ