AEC มุ่งเป้าเป็นโฮลดิ้งหันทำเน้นธุรกิจ Non-Brokered กลางปี 62 หลังขายพอร์ตรายย่อยหนีสงครามค่าคอมฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 16, 2018 11:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชนะชัย จุลจิราภรณ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เออีซี (AEC) เปิดเผยว่า AEC จะปรับบทบาทไปเป็นบริษัทโฮลดิ้ง โดยมีแผนจะเข้าร่วมทุนกับธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดี (Potential) ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งระหว่างนี้ได้เจรจาเข้าร่วมทุนอยู่หลายรายในกลุ่มประเทศ CLMV และยังจับมือพันธมิตรสิงคโปร์เข้ามาร่วมธุรกิจขาย ICO หรือจับคู่ธุรกิจที่ต้องการควบรวมกิจการ (M&A) ระหว่างบริษัทต่างประเทศกับบริษัทจดทะเบียนของไทย

AEC ได้ขายสินทรัพย์ธุรกิจตัวแทนนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์รายย่อย พอร์ตลูกค้า พร้อมทีมงานเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เก็ตติ้ง) กว่า 100 คน ให้กับ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศไทย) จำนวน 7 สาขา อยู่ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด และ บล.คันทรี่ กรุ๊ป จำนวน 2 สาขา คือสาขาบางนา และสาขาซอยศูนย์วิจัยฯ ในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ กระบวนการซื้อขายเสร็จภายในเดือนธ.ค.61

ดังนั้น บริษัทจะไม่มีสาขาห้องค้าแล้ว และคงเหลือทีมมาร์เก็ตติ้งที่สำนักงานใหญ่ไม่เกิน 20 คน ซึ่งส่วนใหญ่ดูแลลูกค้าสถาบันเป็นหลัก ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 5-6 แห่ง โดยบริษัทยังมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจ (ไลเซ่นส์) โบรกเกอร์ยังอยู่

"เรา diversify ธุรกิจโบรกเกอร์ มาเป็นธุรกิจ Non- Brokered ที่มีมาร์จิ้นดีกว่า เรา downsize ธุรกิจ Brokered จะเน้น Non-Brokered มากขึ้น เพราะวันนี้มีการตัดราคาค่าธรรมเนียมฯ ของธุรกิจโบรกเกอร์ ขณะที่ ธุรกิจ Non-Brokered ไม่มีการตัดราคาเพราะธุรกิจซับซ้อนมากกว่า และธุรกิจโบรกเกอร์ก็ยังต้องมีภาระการดูแลพนักงาน

เรามองว่าธุรกิจ Brokered มีการแข่งขันกันเยอะ มาร์จิ้นลดลงไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราขายออกไปแล้วเอาเงินไปลงทุนธุรกิจอื่นที่น่าจะมี yield ดีกว่า และจากที่เราทำด้าน IB ด้าน Fixed imcome ใช้คนไม่กี่คน แต่ทำรายได้และกำไรได้ดี จึงคิดว่าไปทำแบบนั้นดีกว่า ทั้งนี้จะนำกำไรที่ขายสินทรัพย์ในธุรกิจโบรกเกอร์ ไปใช้ลงทุนบริษัทร่วมทุนที่เห็นว่ามีแนวโน้มธุรกิจดี"นายชนะชัย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

หลังจากขายธุรกิจโบรกเกอร์รายย่อยออกไปแล้ว ในปี 62 บริษัทจะมุ่งหน้าเน้นทำธุรกิจที่ไม่ใช่นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Non-Brokered) ได้แก่ ธุรกิจวานิชธนกิจ (Investment Banking:IB) มีทั้งงานที่ปรึกษาทางการเงินในการนำธุรกิจระดมทุนจากตลาดทุนผ่านการขายเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และการระดมทุนผ่านการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ICO) ,การจับคู่ธุรกิจ รวมถึงควบรวมกิจการ (M&A) , ธุรกิจนายหน้าซื้อขายตราสารหนี้ทั้งตลาดแรกและตลาดรอง

รวมทั้งการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth) ให้กับลูกค้า นอกจากนี้ บริษัทยังมีการลงทุนเอง (Porfolio) ทั้งตลาดหุ้นและตราสารหนี้ และเป็นตัวแทนขายหน่วยลงทุนของทุกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)

ส่วนธุรกิจโบรกเกอร์จะดูแลเฉพาะลูกค้าสถาบันเป็นหลัก ส่วนลูกค้ารายย่อยที่เหลืออยู่จะให้บริการด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการส่งคำสั่งซื้อขาย โดยขณะนี้มีจำนวนบัญชีลูกค้าที่เคลื่อนไหวสม่ำเสมอ (Active) จำนวนกว่า 100 บัญชี จากบัญชีทั้งหมด 500 บัญชี ซึ่งบริษัทได้ค่าธรรมเนียมนายหน้าฯราว 0.3% สูงกว่าตลาด โดยช่วงนี้จะมีการปรับปรุงเพื่อขยายฐานลูกค้ามากขึ้น จากที่เน้นลูกค้าที่ลงทุนระยะยาวก็เพิ่มลูกค้าที่เล่นระยะสั้นด้วย การปรับปรุงและพัฒนาโมเดลมากขึ้นเพื่อรับรองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย และที่ผ่านมาลูกค้าพอใจกับบริการนี้

นายชนะชัย กล่าวว่า ภายหลังกระบวนการซื้อขายธุรกิจโบรกเกอร์เสร็จเรียบร้อยในปีนี้แล้ว บริษัทจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้งเพื่อรับรองแผนการปรับโครงสร้างกิจการเป็นโฮลดิ้ง หลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อเดือน เม.ย.61 ที่ผ่านมา มีคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นเห็นด้วย 69% ซึ่งน้อยกว่าสามในสี่หรือ 75% ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายทั้งหมดของบริษัท บริษัทจึงจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ คาดว่ากลางปี 62 น่าจะดำเนินการได้ตามแผนปรับโครงสร้างได้

"รายได้ AEC จะกลับด้านมาที่ Non-Brokered มากขึ้น ต่อไปเมื่อเราเป็นโฮลดิ้ง ธุรกิจนายหน้าหลักทรัพย์ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจ และก็ยังมีบริษัทลูกเกิดขึ้นอีก เช่น บริษัทแอดไวซอรี่ Venture Capital ที่เราร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ ที่เราจะไม่ถือหุ้นหลักบริษัทใดบริษัทหนึ่ง อาจจะถือหุ้น 30-50%"นายชนะชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ