ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 311,880.05 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 19, 2018 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (12 - 16 พฤศจิกายน 2561) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 311,880.05 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 62,376.01 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 2% ทั้งนี้เมื่อแยกตาม ประเภทของตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 77% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 238,677 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขาย เท่ากับ 41,799 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 13,774 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13% และ 4% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่ เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB28DA (อายุ 10.1 ปี) LB23DA (อายุ 5.1 ปี) และ LB22DA (อายุ 4.1 ปี) โดยมีมูลค่า การซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 6,076 ล้านบาท 4,928 ล้านบาท และ 4,268 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) รุ่น BJC206A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 1,620 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รุ่น TBEV203A (AA) มูลค่าการซื้อขาย 941 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) รุ่น SCC224A (A+(tha)) มูลค่าการซื้อขาย 741 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงในตราสารระยะยาวประมาณ 1-5 bps. ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าซื้อของนักลงทุนต่างชาติ ด้านปัจจัยในประเทศ กนง. เมื่อ วันที่ 14 พ.ย. มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้อุปสงค์ต่างประเทศมีสัญญาณ ชะลอลงบ้าง อัตราเงินเฟ้อมีทิศทางเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงิน โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสะสม ความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต สำหรับปัจจัยต่างประเทศ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้แถลง ยืนยันว่า คณะรัฐมนตรีอังกฤษลงมติอนุมัติร่างข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) หลังจากร่างข้อตกลงดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบร่วมกันระหว่าง ตัวแทนการเจรจาของอังกฤษ และสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันอังคาร (13 พ.ย.) ทั้งนี้ตลาดติดตามรายงานตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 3/2561 ของไทยในวันจันทร์ (19 พ.ย.)

สัปดาห์ที่ผ่านมา (12 พ.ย. – 16 พ.ย. 2561) มีกระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 4,753 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ ระยะสั้น (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) 484 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) 4,279 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ (Expired) 10 ล้านบาท

หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้

ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย                               สัปดาห์นี้      สัปดาห์ก่อนหน้า     เปลี่ยนแปลง             สะสมตั้งแต่ต้นปี
                                                 (12 - 16 พ.ย. 61)  (5 - 9 พ.ย. 61)           (%)   (1 ม.ค. - 16 พ.ย. 61)
มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท)         311,880.05       306,628.38         1.71%           17,263,012.95
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท)                            62,376.01        61,325.68         1.71%               79,553.06
ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index)                 104.85           104.79         0.06%
ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price index)                   103.83           104.04        -0.20%

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --%
ช่วงอายุของตราสารหนี้                   1 เดือน     6 เดือน     1 ปี     3 ปี     5 ปี     10 ปี     15 ปี     30 ปี
สัปดาห์นี้ (16 พ.ย. 61)                    1.3       1.67    1.73    2.09    2.35     2.78     3.25     3.42
สัปดาห์ก่อนหน้า (9 พ.ย. 61)               1.28        1.7    1.75     2.1    2.38     2.83     3.25     3.42
เปลี่ยนแปลง (basis point)                  2         -3      -2      -1      -3       -5        0        0

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ