บล.ทิสโก้ มอง SET ปี 62 ไปไม่ถึง 2,000 จุด รับแรงกดดันศก.โลกชะลอ-เฟดขึ้นดอกเบี้ย-กำไร บจ.โตน้อย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 20, 2018 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ กล่าวว่า การปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทยไปสู่ระดับ 2,000 จุด ในปี 62 คงเป็นไปได้ยาก เพราะทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประเด็นสงครามการค้าของสหรัฐฯ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เข้ามากดดัน

แม้ว่าในปี 62 จะมีปัจจัยในประเทศเรื่องการเลือกตั้งในประเทศเข้าหนุน แต่หลังจากการเลือกตั้งแล้วต้องดูการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร และจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ดีได้หรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นมองว่าเป้าหมายดัชนี SET ในปี 62 จะอยู่ที่ 1,850 จุด โดยที่ดัชนีจะทำจุดสูงสุดของปี 62 ในช่วงไตรมาส 1/62 ซึ่งเป็นช่วงของการเลือกตั้ง

"การที่ดัชนี SET จะไปที่ 2,000 จุด ได้ ก็ต้องไปพร้อมกับตลาดหุ้นอื่นในต่างประเทศด้วย ซึ่งมันเป็นไปได้ยากที่เราจะเพิ่มขึ้นไปแค่ประเทศเดียว และตอนนี้มีปัจจัยกดดันที่มาจากต่างประเทศกดดันมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย และกำไรบริษัทจดทะเบียนในประเทศที่ไม่ได้เติบโตมากแบบเมื่อกก่อน ก็เป็นไปได้ยสกที่จะเห็นดัชนีไปแตะ 2,000 จุด ในปีหน้า ถ้าจะไปที่ระดับนั้นได้จริงๆตลาดหุ้นทั่วโลกก็ต้องปรับตัวขึ้น อเมริกาเจรจาสงครามการค้ากับจีนได้ เฟดต้องไม่ขึ้นดอกเบี้ย และกำไรบริษัทจดทะเบียนต้องพุ่งขึ้นสูง ถึงจะดันดัชนัไปที่ 2,000 จุด ได้"นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยจากนี้ไปมองว่าจะไม่เห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงอย่างในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อนที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30-40% ต่อปี แต่จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เฉลี่ยเพียง 5-10% เนื่องจากปัจจุบันตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกเผชิญกับปัจจัยที่ส่งผลต่อความเสี่ยงและความไม่แน่นอนทีมาจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังจากที่ฟื้นขึ้นมาได้เพียงไม่นาน ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลงในปีนี้

ประกอบกับ ปัจจัยในประเทศยังไม่เห็นการเติบโตที่ดีอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกและการท่องเที่ยวชะลอตัวลงไป และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาส 3/61 ที่ 3.3% ต่ำกว่าที่หลายสถาบันคาดการณ์ไว้ สะท้อนถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ค่อยดีนัก และกำไรบริษัทจดทะเบียนในประเทศที่เติบโตได้ไม่มากเท่ากับในอดีต ซึ่งปัจจุบันมีการเติบโตได้ที่ 20-25% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ไม่ก้าวกระโดด ทำให้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นไทยที่สูงเทียบเท่าในอดีตเป็นไปได้ยาก

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในปีหน้าจะยังไม่หมดภาวะกระทิง (Bull) เนื่องจากยังไม่เห็นการปรับตัวลดลงของดัชนีมากกว่า 20% ซึ่งโดยปกติแล้วหากดัชนีตลาดหุ้นปรับลดลงมากกว่า 20% จะแสดงถึงการเข้าสู่ภาวะหมี (Bear) ซึ่งตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันตลาดหุ้นไทยลดลง 8% ซึ่งลดลงน้อยกว่าตลาดหุ้นในประเทศเกิดใหม่ที่เฉลี่ยปรับตัวลง 15% ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังมีทิศทางที่ดีกว่าตลาดหุ้นอื่นๆในประเทศเกิดใหม่ และในระบบยังมีเม็ดเงินที่เป็นสภาพคล่องที่อยู่ระหว่างการรอความชัดเจนของปัจจัยต่างๆ ก่อนที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น

"หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่ควรมี เพราะไม่มีสินทรัพย์ใดที่มาแทนที่และให้ผลตอบแทนที่ดีมากไปกว่าหุ้นได้ในตอนนี้ และสภาพคล่องในระบบตอนนี้ก็มีอยู่เยอะมากที่พร้อมเข้ามาในตลาดหุ้น แต่ยังรอดูจังหวะ ซึ่งสภาพคลอ่งที่มีมาก เพราะมีเพียงแค่อเมริกาที่ดึงเงินกลับไปบ้างแล้วเพียงประเทศเดียว ส่วนยุโรปและญี่ปุ่นก็ยังคงอัดฉีดเงินอยู่ ทำให้สภาพคล่องที่อยู่ในระบบตอนนี้จะเป็นแรงหนุนต่อตลาดหุ้นได้เมื่อปัจจัยต่างๆชัดเจนขึ้น"นายไพบูลย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ