(เพิ่มเติม) EPG มั่นใจรายได้งวดปี 61/62 โต 10-15% เป็นมากกว่า 1 หมื่นลบ.,ผลงาน Q3 ดีขึ้นจาก Q2 หลังต้นทุนลด-บาทอ่อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 20, 2018 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ารายได้จากการขายปี 61/62 (เม.ย.61-มี.ค.62) เพิ่มขึ้นประมาณ 10-15% หรือทะลุ 1 หมื่นล้านบาท จากงวดปีก่อนที่อยู่ระดับ 9.61 พันล้านบาท ตามปัจจัยหนุนจาก 3 ธุรกิจหลัก

โดยในงวดครึ่งปีแรก (เม.ย.-ก.ย.61) บริษัทมีรายได้รวม 5.46 พันล้านบาท เป็นไปตามการเติบโตของ 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ AEROFLEX ,ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ภายใต้แบรนด์ AEROKLAS และธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ EPP

ทั้งนี้ แนวโน้มธุรกิจและทิศทางการเติบโตในช่วงครึ่งหลังของงวดปี 61/62 (ต.ค.61-มี.ค.62) ยังคงดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ของบริษัท ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 ของงวดปี 61/62 คาดว่าผลงานจะดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า และช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในเรื่องของราคาน้ำมัน ส่งผลทำให้กำไรสูงขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงก็ส่งผลดีต่อรายได้ที่มาจากการส่งออกของบริษัทฯ ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกถึง 60% ส่วนอีก 40% มาจากการขายภายในประเทศ

บริษัทกำหนดกลยุทธ์ The New S-Curve เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในกลุ่มธุรกิจ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิต เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งบริษัทได้ทยอยนำสินค้านวัตกรรมออกสู่ตลาดแล้ว รวมถึงใช้กลยุทธ์ในการตั้งราคาขายและการบริหารจัดการต้นทุน อีกทั้งมุ่งเน้นการขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น

สำหรับ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1) ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ AEROFLEX ยังคงมุ่งเน้นทำการตลาดในกลุ่มสินค้าพรีเมี่ยม ทั้ง ในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ อาเซียน เป็นต้น ในด้านการผลิตที่ผ่านมาได้ลงทุนปรับปรุงไลน์การผลิตในสหรัฐอเมริกา โดยใช้เครื่องจักรอัตโนมัติความเร็วสูง เนื่องจากเห็นโอกาสการเติบโตในสหรัฐอเมริกา จากความต้องการใช้สินค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้องการลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต หากไลน์การผลิตใหม่ในสหรัฐอเมริกาสามารถเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตได้จะส่งผลให้กำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นตาม สำหรับประเทศไทยได้ลงทุนขยายโรงงานใหม่คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 62

2) ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ภายใต้แบรนด์ AEROKLAS ได้ทยอยส่งผลิตภัณฑ์นวัตกรรมหลายชนิดออกสู่ตลาด ได้แก่ การปรับปรุงโมเดลใหม่จากผลิตภัณฑ์หลักของ AEROKLAS/ ผลิตภัณฑ์กันชนท้ายกระบะซึ่งผลิตจากโพลีเมอร์ที่มีความแข็งแรงทนทานแต่มีน้ำหนักเบา / EZ UP & DOWN TAIL GATE ASSIST ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้การเปิดปิดท้ายรถกระบะง่ายขึ้น และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จะทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

สำหรับธุรกิจในประเทศออสเตรเลีย TJM Products Pty.Ltd (TJM) และ Flexiglass Challenge Pty.Ltd (Flexiglass) ซึ่งเป็นช่องทางจัดจำหน่ายที่สำคัญของ AEROKLAS ปัจจุบัน TJM มีสาขา 3 แห่ง ตั้งอยู่ที่ Perth 2 แห่ง และ Brisbane 1 แห่ง ทำให้มีร้านค้าภายใต้แบรนด์ TJM จำนวน 64 แห่ง Flexiglass มีสาขา 5 แห่ง และช่องทางการจัดจำหน่ายกว่า 100 แห่ง อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับกลุ่มธุรกิจ Aeroklas ได้นำกลยุทธ์ synergy มาใช้ดำเนินงาน

และ 3) ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP เร่งทำการตลาดมากขึ้นในกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารและถ้วยน้ำดื่ม ส่วนลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม EPP มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับงานด้วยความพร้อมของกระบวนการผลิต และมาตรฐานความสะอาด ความปลอดภัยทางด้านอาหารที่ได้รับการรับรองจากองค์กรชั้นนำหลายแห่งทั่วโลก โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับมาตรฐาน The British Retail Consortium (BRC) มาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร (food safety) ของสหราชอาณาจักร ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตอาหารเพื่อส่งขายในสหราชอาณาจักร ได้อีกด้วย

นายเฉลียว กล่าวอีกว่า บริษัทตั้งงบลงทุนปกติในช่วง 3 ปี (งวดปี 61/62 ถึง งวดปี 63/64) ไว้ที่ 650 ล้านบาท แบ่งเป็น งวดปี 61/62 จะใช้ลงทุนในโรงงานระยอง จำนวน 250 ล้านบาท ซึ่งเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และงวดปี 62/63 จะใช้ลงทุนในโรงงานกระจก จำนวน 100 ล้านบาท และงวดปี 63/64 จะใช้ในการทำห้องทำความสะอาด (Clean Room) จำนวน 300 ล้านบาท

พร้อมกัน บริษัทได้ตั้งงบลงทุน จำนวน 500 ล้านบาท เพื่อใช้ในการร่วมทุน (JV) และการซื้อกิจการ (M&A) ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตฉนวนกันความร้อน-เย็น (AEROFLEX) และธุรกิจผลิต-จำหน่ายชิ้นส่วนอุปกรณ์และสินค้าตกแต่งยานยนต์ (AEROKLAS) รวมถึงผลิต-จำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกขึ้นรูป (EPP) แต่ในขณะนี้ยังไม่เห็นความชัดเจน

ด้านแหล่งเงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดที่มีอยู่จำนวนมาก และยังมีหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับต่ำ (D/E) 0.3 เท่า รวมถึงยังมีวงเงินหุ้นกู้อีก 2,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ