(เพิ่มเติม) SAWAD ตั้งเป้ารายได้ปี 62 โตตามพอร์ตสินเชื่อขยายตัว 20-30% คาด NPL แตะ 4% เตรียมออกหุ้นกู้ล็อคต้นทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 23, 2018 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวธิดา แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 62 เติบโตตามพอร์ตสินเชื่อที่คาดว่าจะขยายตัว 20-30% โดยมองว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดความต้องการสินเชื่อมากขึ้น ขณะนี้บริษัทคาดว่าอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 62 จะอยู่ที่ระดับ 4% จากปัจจุบัน 5% เนื่องจากมีการบริหารจัดการติดตามทวงหนี้ได้ดีขึ้นและมีการเข้าเจรจากับลูกหนี้เพื่อแบ่งชำระหนี้

ขณะเดียวกันบริษัทคาดว่าแนวโน้มผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4/61 จะสามารถเติบโตได้ดีต่อเนื่อง จากเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นตามเทศกาล ส่งผลให้คาดว่าภาพรวมผลประกอบการปี 61 จะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 20-30% ทั้งรายได้และยอดปล่อยสินเชื่อใหม่

สำหรับกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการออกกฎเกณฑ์ควบคุมธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันให้คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 28% มองว่าไม่มีผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทมีการคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยราว 23-25% เท่านั้น โดยเป็นการดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อผ่าน บมจ.เงินทุน ศรีสวัสดิ์ (BFIT) บริษัทย่อย ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อมีหลักประกันราว 90%

นางสาวธิดา กล่าวอีกว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนในระบบเทคโนโลยีการให้บริการสินเชื่อและระบบการกู้ยืมออนไลน์ เพื่อสามารถให้บริการลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งบริษัทคาดว่าจะมีการใช้งบลงทุนมากกว่า 100-120 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ยังต้องศึกษาว่าการให้บริการจะออกมาในรูปแบบใด

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนขยายสาขาในปี 62 อีกจำนวน 200-400 สาขา จาก ณ สิ้นก.ย.61 ที่มี 2,740 สาขา โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 80,000-100,000 บาทต่อสาขา เพื่อให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันบริษัทตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยต่อสาขาต่อปีในอีก 2-3 ปีข้างหน้าที่ระดับ 14 ล้านบาท จากปัจจุบันที่ 10 ล้านบาท

น.ส.ธิดา กล่าวต่อว่า บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้มูลค่าราว 3-4 พันล้านบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 62 เพื่อเป็นการควบคุมต้นทุนทางการเงินจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งปัจจุบันต้นทุนทางการเงินของบริษัทเฉลี่ยอยู่ในระดับ 3.6-3.7% ขณะที่ปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ระดับ 1.7-1.8 เท่า

อย่างไรก็ดี บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินจากการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) ให้กับกลุ่ม คาเธ่ย์ ไฟแนนเชียล โฮลดิ้ง จำนวนราว 2.5-2.6 พันล้านบาทในช่วงต้นปี 62 ซึ่งคาดว่าจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนมีแนวโน้มลดลง

ส่วนธุรกิจการบริหารจัดการหนี้เสีย ปัจจุบันบริษัทมีการใช้เงินลงทุนแล้วราว 1.1 พันล้านบาท เพื่อซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารแล้วเป็นมูลหนี้ทั้งหมด 5,000-10,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 62 บริษัทวางงบลงทุนเพื่อประมูลหนี้เสียเข้ามาบริหารเพิ่มเติมราว 2-3 พันล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ