(เพิ่มเติม) TRC คาดปี 51 รายได้รวมโต 55% จากปี 50 เหตุงานในมือสูง-รุกขยายงาน ตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 11, 2008 17:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสมัย ลี้สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น(TRC)คาดว่า รายได้รวมของบริษัท(รวมบริษัทย่อย) ในปี 51 จะเติบโตประมาณ 55% มาอยู่ที่ 2,480 ล้านบาท ขณะที่คาดว่าปี 50 จะมีรายได้รวม 1,600 ล้านบาท แม้การเมืองในประเทศจะยังไม่นิ่งและได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่บริษัทและบริษัทย่อยมีงานในมือรวม 17 โครงการ มูลค่างานประมาณ 2 พันล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3/50 ที่จะมารับรู้รายได้ในปีนี้           
ประกอบกับปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้ที่เกิดจากการควบรวมกิจการกับบริษัท สหการ วิศวกร จำกัด คือ หน่วยงาน Project Development and Investment โดยจะเข้าไปพัฒนาโครงการด้านพลังงานที่กัมพูชา คือโครงการเขื่อนพลังงานไฟฟ้าสตึงนำ, โครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ลาดกระบัง และโครงการรอยัลราชดำริ โดยโครงการเหล่านี้จะมีอัตรากำไรขั้นต้นสูง 30-40% จากธุรกิจปกติที่มีอัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 15%
สำหรับปี 50 ที่ผ่านมา บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้น 15% ส่วนปี 51นี้คาดว่าจะสูงกว่าปี 50 และทำให้มีกำไรสุทธิมากกว่าปี 50 เนื่องจากรายได้จากหน่วยธุรกิจใหม่ที่คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 200 ล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้น 30-40% ส่วนธุรกิจหลักคาดว่ามีรายได้ 2,280 ล้านบาทนั้น จะมีอัตรากำไรขั้นต้น 15%
นายสมัย กล่าวว่า บริษัทยังมีนโยบายขยายงานออกสู่ต่างประเทศ ร่วมกับบริษัทไชน่า เนชั่นแนล ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชั่น(CNPC) ซึ่งเป็นผู้นำพลังงานรายใหญ่ของจีน โดยเป็นงานด้าน Pipeline และ Steel Fabrication รวมทั้งงาน Turnkey Desalination ร่วมกับบริษัทไฮโดรเท็ค ที่เข้ามาสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
"เชื่อว่าปี 51 จะเห็น TRC มีการเติบโตอย่างมาก จากการผนึกกำลังรวมกับสหการวิศวกร เพราะธุรกิจของเราก็มีแนวโน้มเติบโตดีอยู่แล้ว เมื่อการเมืองเริ่มมีความชัดเจน และจัดตั้งรัฐบาลลงตัว โครงการสาธารณูปโภคที่หยุดหรือชะลอตัวไป น่าจะเริ่มเปิดประมูลได้" นายสมัย กล่าว
ทั้งนี้คาดว่าราวไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ปีนี้ จะทราบผลที่ชัดเจนในการรับงานต่างประเทศ โดยมองว่าบริษัทจะขยายงานไปยังแถบประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม นอกจากนี้ยังมีประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งจะร่วมงานกับบริษัทไฮโดรเท็ค ส่วนความร่วมมือกับ CNPC จะพิจารณาเป็นรายโครงการไป
อย่างไรก็ดี การขยายงานของ บมจ.ปตท.(PTT)ในระยะ 5 ปีหน้านี้ บริษัทคาดว่าจะได้อานิสงค์ในการเติบโตตามไปด้วย
ด้านนายไพฑูรย์ โกสีย์รักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ TRC กล่าวว่า ระหว่างนี้ได้มีการเจรจากับพันธมิตร 3-4 รายเพื่อให้เข้าร่วมทุนในโรงไฟฟ้า SPP ลาดกระบัง ที่มีมูลค่าโครงการประมาณ 2-3 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจโรงไฟฟ้าที่เพิ่งพลาดมาจากการประมูลโรงไฟฟ้า IPP คาดว่าจะสรุปการเจรจาได้ในไตรมาส 2 หรือ 3 ของปีนี้ ซึ่งบริษัทจะเข้าร่วมทุนประมาณ 25-30% หรือใช้เงินลงทุน 800-900 ล้านบาท
ส่วนโครงการเขื่อนพลังงานไฟฟ้าสตึงนำ ที่กัมพูชา ถือว่าเป็นโครงการใหญ่ขนาด 6 พันล้านบาท ขณะนี้บริษัทกำลังเจรจากับพันธมิตรเช่นกัน คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในการร่วมทุนภายในสิ้นปีนี้
"เรากำลังดูว่า บริษัทเรามีความสามารถในการลงทุนโรงไฟฟ้าสตึงนำได้ขนาดไหน แต่ตอนนี้กระแสเงินสดของเรายังมีอยู่ D/E ยังต่ำกว่า 1 เท่า เราให้ บล.กิมเอ็งเป็นที่ปรึกษาการเงิน เข้ามาดูแล" นายไพฑูรย์ กล่าว
นายไพฑูรย์ คาดว่า ไตรมาส 1 จะมีงานในมือเพิ่มอีก 700-800 ล้านบาท เป็นการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมพลังงานที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญา และหากได้ข้อสรุปเรื่องการร่วมทุนโรงไฟฟ้า SPP ลาดกระบัง ก็จะได้งานซึ่งมีระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี
สำหรับแนวโน้มการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐ มองว่าจะมีการเปิดประมูลมากขึ้นหลังจากมีรัฐบาลใหม่แล้ว ซึ่งบริษัทจะเข้าร่วมประมูลโดยบริษัทสหการ วิศวกร ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการโยธา ที่ได้ควบรวมกิจการเมื่อปลายปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะมีรายได้จากการประมูลงาน
TRC ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในงานวางระบบท่อ ธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบวิศวกรรมและก่อสร้างโรงงานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และมีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบวิศวกรรมและก่อสร้างโรงงานในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)โครงสร้างรายได้ของ TRC มาจากงานก่อสร้างท่อ และงานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมพลังงาน ในสัดส่วน 50:50

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ