LHFG ตั้งเป้าสินเชื่อรวมปี 62 โต 5-6% หันเน้นรายใหญ่ชะลอปล่อยกู้บ้าน-SME พร้อมปรับลุคเป็น "mark Symbolic of CHANGE"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 29, 2018 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางศศิธร พงศธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อปี 62 เติบโต 5-6% สูงขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าขยายตัวได้ 4-5% ซึ่งการขยายตัวของสินเชื่อตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นไปถือว่าเริ่มขยายตัวได้ไม่มากเท่ากับเมื่อช่วง 10 ปีก่อน เพราะพอร์ตสินเชื่อมีขนาดใหญ่มากขึ้น

และปัจจุบันธนาคารได้ชะลอการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเอสเอ็มอี จากสัญญาณของหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น และหันมาเน้นการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งในปี 62 ถือว่าเป็นโอกาสที่ธนาคารจะขยายสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการรับเหมาก่อสร้างโครงการลงทุนต่างๆของภาครัฐที่ออกมา จึงคาดว่าจะมีความต้องการใช้สินเชื่อของผู้ประกอบการรับเหมาเพิ่มมากขึ้นด้วย

นายรัตน์ พานิชพันธ์ ประธานกรรมการ บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานของธนาคารในปี 62 จะหันไปเน้นการขยายสินเชื่อรายใหญ่มากขึ้น หลังจากที่มีแรงกดดันของสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเอสเอ็มอีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จากปัญหาหนี้เสียของสินเชื่อบ้านในระบบที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในส่วนลูกค้าที่กู้ซื้อบ้านของธนาคารบางรายที่ผ่อนมาแล้ว 7-8 ปีเริ่มพบปัญหาหนี้เสีย ทำให้ธนาคารตัดสินใจชะลอการปล่อยสินเชื่อบ้านลง

ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อบ้านนั้น ธนาคารมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน และช่วยลดปัญหาของหนี้เสียในสินเชื่อบ้านให้ลดลงได้

ขณะที่ธนาคารชะลอปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี เนื่องจากความไม่แน่นอนของกำหนดการเริ่มใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่จะมีผลกระทบต่อลูกค้าเอสเอ็มอีอย่างมาก และในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นอาจทำให้ลูกค้าเอสเอ็มอีมีภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น จึงมองว่าเป็นความเสี่ยงที่ธนาคารจะรุกขยายสินเชื่อในกลุ่มเอสเอ็มอีในขณะนี้

ดังนั้น ธนาคารจึงต้องหันมาเน้นการปล่อยสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีรายได้ตั้งแต่ 100 ล้านบาท/ปี ขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงน้อยกว่ากลุ่มรายย่อยและเอสเอ็มอี ประกอบกับเป็นการรองรับการเปิดบริการ Trade Finance ในช่วงไตรมาส 1/62 เป็นบริการที่เสริมเข้ามานำเสนอให้กับลูกค้ากลุ่มธุรกิจ

นางศศิธร กล่าวอีกว่า ปัจุบันสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 70% จากสิ้นปปีก่อนอยู่ที่ 60% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ในระดับที่เท่ากันที่ 15% คิดเป็นสินเชื่อ 2.4 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในปี 62 วางเป้าหมายควบคุมให้อยู่ที่ไม่เกิน 2% ใกล้เคียงกับปี 61 โดยธนาคารยังคงมีแผนการตัดจำหน่ายหนี้สูญออกไปตามปกติ เพื่อรักษาระดับ NPL ให้อยู่ในระดับที่ธนาคารควบคุมได้ และ Coverage ratio ของธนาคารจะยังคงอยู่ที่ 110%

ขณะนี้ธนาคารได้เดินหน้ารุกบริการ Wealth Management, Digital Banking และ Trade Finance อย่างต่อเนื่องโดยเป็นความร่วมมือกับ CTBC Bank ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา กลุ่มการเงิน LHFG มีการพัฒนาในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่ออำนวยความสะดวก และยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์และตรงกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของลูกค้า เช่น การซื้อขายหุ้น การซื้อขายกองทุน และการเปิดบัญชีใหม่ผ่าน Application LH Bank M Choice

และในไตรมาส 1/62 ธนาคารจะเปิดให้บริการใหม่ อาทิ บริการธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ ทั้งด้านการนำเข้าและส่งออก (Trade Finance) และ บริการรับชำระเงินจาก E-Wallet ผ่าน QR Code เป็นต้น

"การเปิดตัว mark Symbolic of CHANGE ของกลุ่มการเงิน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดในด้านการให้บริการ รูปแบบสาขา และรูปแบบเครื่องแบบของพนักงานเพื่อเสริมสร้างบุคลิกที่ทันสมัย กระฉับกระเฉงและคล่องตัว ภายใต้คอนเซ็ปต์ "We Are Family" เราคือครอบครัวเดียวกัน แต่ยังคงไว้ซึ่งความสุขุม ความอบอุ่นและเป็นกันเอง รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่ Private Zone, Private Room เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวสำหรับลูกค้า โดยสาขาที่ได้มีการปรับรูปแบบใหม่ ได้แก่ สาขาพาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ และสาขาเทอร์มินอล 21 พัทยา และมีแผนที่จะเพิ่มสาขารูปแบบนี้เพื่อรองรับลูกค้าพื้นที่ต่างๆ ในอนาคตและนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับการให้บริการทางการเงินแบบครบวงจรตามมาตรฐานสากลและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มภายใต้สโลแกน "We are Family"นางศศิธร กล่าว

แม้ระบบธนาคารมีแนวโน้มที่จะลดจำนวนสาขา ซึ่ง LH Bank เห็นว่าสาขา LH Bank ยังมีความจำเป็นที่จะให้คำปรึกษากับลูกค้า ซึ่งการให้บริการ Digital Banking ไม่สามารถทำได้ จึงได้ปรับกระบวนการให้บริการให้สาขาเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) ทั้งด้านการเงิน การลงทุน กองทุน หุ้น นอกจากนี้ยังพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญมากขึ้น สำหรับการปรับลุคเพื่อช่วยสร้างความผูกพันระหว่างลูกค้ากับกลุ่มการเงิน LHFG เชื่อว่าจะส่งผลต่อการสร้างฐานลูกค้าได้เป็นอย่างดี ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาช่วยในการขยายฐานลูกค้า ให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว

นายรัตน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ CTBC ยังคงสัดส่วนการถือหุ้นใน LHFG ที่ 35% และไม่มีแผนจะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นในขณะนี้ โดยมองว่าสัดส่วนที่ CTBC ถือหุ้นอยู่เป็นระดับที่มีความเหมาะสม แต่หาก CTBC ต้องการซื้อหุ้นเพิ่มเป็นเรื่องที่จะพิจารณาในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ